ข่าว

สูตร หาร 500 ส่อแท้ง เชื่อ "กกต." ไม่ยอมแน่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สูตรหาร 500 ไม่น่าไปรอด "กกต." ไม่ปล่อยผ่านแน่ เพราะเสนอร่างกฎหมายมาให้ครม.เอง มีเวลา 10 วัน ตีกลับรัฐสภา หลังโหวตวาระ 3

การประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญด้วยการเลือกตั้งส.ส.ซึ่งยังค้างการพิจารณาอีกราวสิบมาตรา เริ่มประชุม เวลา 09.00 น. วันพรุ่งนี้  หลังจากที่ผ่านมา พิจารณามาตรา23 เรื่องการได้มาซึ่งส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามสูตรหารห้าร้อย ทำให้หลายฝ่ายรวมทั้งรัฐบาลเอง กลับมากังวลว่า จะขัดรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อรัฐสภาลงมติไปแล้ว ขั้นตอนต่อไปต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จทั้งฉบับ ก่อนส่งให้กรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ในฐานองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 (2) พิจารณาว่าขัดรัฐธรรมนูญ หรือไม่

ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเชื่อว่า กกต. จะยืนยัน ให้ส.ส.บัญชีรายชื่อ มีที่มาจากการหาร 100 ตามจำนวนส.ส.ในระบบนี้

 

สูตร หาร 500 ส่อแท้ง เชื่อ "กกต." ไม่ยอมแน่

 

เพราะกกต.เป็นผู้เสนอ ร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.มาให้คณะรัฐมนตรีเอง ในฐานะผู้มีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ย่อมตระหนักดีว่า เงื่อนไขการได้มาของส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ แบบไหนที่ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ที่มีการแก้ไขมาตรา 91 ซึ่งมีสาระสำคัญว่าด้วยการคำนวณสัดส่วนผู้สมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง โดยระบุให้ใช้คะแนนที่พรรคได้รับเลือกตั้งรวมกันทั้งประเทศมาคำนวณเพื่อแบ่งจำนวน ผู้ได้รับเลือกตามสัดส่วนที่สัมพันธ์กับคะแนนรวมของพรรค และให้ผู้ที่อยู่ในบัญชีผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้รับเลือกตามเกณฑ์คะแนนที่คำนวณได้เรียงลำดับหมายเลข

ขั้นตอนหลังจากที่รัฐสภามีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้งสส. แล้วให้ดำเนินการตาม รัฐธรรมนูญมาตรา 132 (2) และ(3)ซึ่งมีสาระสำคัญว่า

(2) ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ให้รัฐสภาส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นไปยังศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความเห็น ในกรณีที่ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง ไม่มีข้อทักท้วงภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างดังกล่าว ให้รัฐสภาดำเนินการต่อไป

(3) ในกรณีที่ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบมีข้อความใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้ ให้เสนอความเห็นไปยังรัฐสภา และให้รัฐสภาประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นดังกล่าว ในการนี้ ให้รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมตามข้อเสนอของศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระ ตามที่เห็นสมควรได้ และเมื่อดำเนินการเสร็จแล้วให้รัฐสภาดำเนินการต่อไป

 

ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่

Line: https://lin.ee/qw9UHd2

YouTube:http://https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ