ข่าววันนี้"ชัชชาติ" ผนึกกำลัง "วราวุธ" แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม 6 มิติ
"ชัชชาติ" ผนึกกำลัง"วราวุธ" แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม 6 มิติ คือ เรื่อง PM2.5 เรื่องขยะมูลฝอย เรื่องน้ำเสีย เรื่อง Net Zero หรือ Carbon Credit เรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และเรื่องการเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกับ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เขตพญาไท พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย
นายวราวุธ รมว.ทส. กล่าวว่า วันนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ได้ให้เกียรติมาแลกเปลี่ยนและหารือกันว่าจะทำงานร่วมกันได้ในมิติใดบ้าง ต้องขอบคุณผู้ว่าฯ กทม. ที่มีความรวดเร็วในการที่จะตั้งคณะทำงานระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เกิด pilot project หรือ โครงการนำร่อง และเพื่อให้เห็นงานเป็นรูปธรรมภายในสิ้นปีนี้
ด้าน นายชัชชาติ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจอันดับ 1 อาทิ PM2.5 ขยะ น้ำเสีย สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ประชาชนต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในกรุงเทพมหานคร วันนี้น่าดีใจมาก เพราะหลาย ๆ เรื่อง ทาง ทส. ได้ทำไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น นักสืบฝุ่น การหาต้นตอฝุ่น การปลูกต้นไม้ การทำแอปพลิเคชันปลูกต้นไม้ โดยหลายเรื่องนั้นสามารถร่วมมือกันและทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทางกทม.ทำงานคนเดียวไม่มีทางสำเร็จ หากสามารถร่วมมือกับกระทรวงหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ก็จะดี
"สำหรับเรื่องที่ท่านรัฐมนตรีพูดถึง ประกอบด้วย เรื่อง PM2.5 เรื่องขยะมูลฝอย เรื่องน้ำเสีย เรื่อง Net Zero หรือ Carbon Credit เรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และเรื่องการเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน ซึ่งเป็น 6 เรื่องเริ่มต้นที่เราจะทำงานด้วยกัน โดยตั้งคณะทำงาน ไม่ต้องใหญ่มาก แต่ว่าแต่ละเรื่องให้มี prototype หรือมีต้นแบบให้มันเกิดผลได้ โดยท่านรัฐมนตรีได้สั่งการว่า ภายในสิ้นปีต้องเห็นผลเป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้น หลายเรื่องเราทำได้เลย น่าจะเดินไปด้วยกันได้ และเห็นผล เป็นประโยชน์กับประชาชนได้อย่างรวดเร็ว"
● การแก้ปัญหา PM2.5
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า แนวทางของ ทส. และ กทม. คล้ายคลึงกัน โดย กทม.มีนโยบายในการหาต้นตอของ PM2.5 ส่วนทาง ทส.ก็มีอาจารย์ที่ทำวิจัยเรื่องนี้อยู่ ซึ่งสามารถมาทำร่วมกันให้เป็นแผนระยะยาวได้ การติดตั้งเซ็นเซอร์วัดฝุ่น ทส.มีเซ็นเซอร์ 12 จุด ส่วนกทม.ก็มีแนวคิด cloud censor คือให้ประชาชนมาร่วมทำเซ็นเซอร์ ให้จำนวนมากขึ้น กทม.อยากทำโมเดลการทำนายฝุ่น ซึ่งทส.ก็มีโมเดลที่ทำได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น หลาย ๆ อย่างสามารถนำมาทำรวมกันได้
ด้าน รมว.ทส. กล่าวเสริมว่า ปัญหาเรื่องฝุ่นของกทม. เป็นปัญหาที่คล้ายกับทั้งประเทศไทยพบเจอ บางครั้งกทม.ไม่ได้ผลิตเอง แต่โดนในปริมณฑลพัดเข้ามา แต่ยังดีที่สามารถประสานกับกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทำความเข้าใจกับประชาชนในปริมณฑลได้ นอกจากนี้บางครั้งกทม.ก็ได้รับฝุ่นที่มาจากนอกประเทศเช่นกัน ซึ่งทาง ทส.ต้องแจ้งไปยังเลขาธิการอาเซียนในการขอความร่วมมือไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
● Carbon Credit
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่อง Carbon Credit ทาง ทส.มีองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) อยู่แล้ว ซึ่งเป็นพื้นฐานของการทำ carbon footprint ส่วนกทม.จะต้องเริ่มจากการทำ carbon footprint ว่าเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกแต่ละปีเท่าไร ต้องมีการอัปเดตตัวเลข เพื่อเป็นพื้นฐานในการทำมาตรการต่อไป
● เรื่องการจัดการน้ำเสีย
"จริง ๆ แล้ว มีหลายคลองที่กระทรวงทำอยู่ ซึ่งทางรัฐมนตรีก็มีข้อมูลแล้วว่า น้ำเสียในคลองมาจากดินที่มันเน่า ที่เป็นตะกอนอยู่ข้างล่าง เราอาจจะเริ่มเล็ก ๆ ก่อน เช่นเราอาจจะ prototype คลองหัวลำโพง ซึ่งเป็นคลองสั้น ๆ อยู่ตรงคลองเตย เป็นต้นแบบในการลองทำร่วมกัน เข้าไปวัดน้ำ หาวิธีที่จะปรับปรุงน้ำ ลองดูว่าจะกำจัดต้นตอของเสียยังไง ซึ่งอยู่ในสเกลที่ทำได้ ก็อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการที่จะบำบัดน้ำ" ผู้ว่าฯ กทม. ตอบคำถามสื่อมวลชน
● การเพิ่มพื้นที่สีเขียว
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมปลูกได้เยอะกว่ากรุงเทพมหานคร ตอนนี้ได้ประมาณ 100 กว่าล้านต้น ส่วนของกทม.มีคนเสนอตัวมา 1 ล้าน 6 แสนต้น ปลูกจริงแล้วกว่า 6 หมื่นต้น กทม.ต้องขอคำแนะนำจาก ทส. เพิ่มเติม เพราะมีข้อมูลเยอะ มีกล้าไม้ มีข้อมูลการดูแลรักษาต้นไม้ การปลูก อย่างต้นไม้บางต้น ทำ carbon footprint ได้ ทำ Carbon Credit ได้ แต่ต้นไม้เล็กทำไม่ได้ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องร่วมมือกัน
"ดีใจมาก วันนี้การที่ผู้ว่าฯ ให้เกียรติยกทีมมาพบปะ ซึ่งจะทำให้การต่อยอดนโยบายของพวกเราได้ลงไปถึงพี่น้องชาวกทม. โดยทุก ๆ กรมในกระทรวงพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของพี่น้องชาว กทม."
เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Website - www.komchadluek.net
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek