ข่าว

พ่อแม่ "ครู" จะคุยกับ ลูก หรือ "นักเรียน" อย่างไร เมื่อโลกติดลบ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เพราะเป็นเด็กจึงเจ็บปวด พ่อแม่ "ครู" จะคุยกับลูกหรือ "นักเรียน" อย่างไรเมื่อโลกติดลบและเลวร้าย บทความโดย ภก.ณภัทร สัตยุตม์ นักจิตบำบัดความคิดพฤติกรรมและนักพฤติกรรมศาสตร์

“ผมทนไม่ได้แล้ว ไม่ไหวแล้ว”

“หาทางออกไม่ได้แล้วจริง ๆ ไม่รู้จะทำอย่างไร”

“ไม่มีใครเข้าใจเลย”

“ทุกคนกดดัน คาดหวัง แต่เคยถามบ้างไหมว่าต้องการอะไร”

 

เมื่อได้ยินแล้วเราคิดอย่างไร

     

หากสิ่งที่คิดคือ…“อ่อนแอจัง” “เรื่องแค่นี้เอง” “ไม่เห็นมีอะไรเลย” “คิดมากไป” “ทำไมพูดไม่รู้เรื่องสักที”

 

อยากให้ลองคิดช้า ๆ ทบทวนอีกครั้ง

เพราะเราเองอาจกำลังหันหลังให้กับเด็ก ๆ ทำให้เขาโดดเดี่ยวและหมดหวัง

กว่าเขาจะรวบรวมความกล้าที่จะพูดให้เราฟังนั้นต้องใช้ความพยายามแค่ไหน

การฟังอย่างตั้งใจและให้ความสำคัญกับสิ่งที่เขาพูดจึงมีความหมายอย่างยิ่ง

เพราะคำตอบของเราอาจเป็นฟางเส้นสุดท้าย ที่พร้อมจะทำให้ทุกอย่างเลวร้ายหรือทลายลงได้

และนี่คือ…10 มุมคิด พ่อแม่ และ ครู จะคุยกับ ลูก หรือ นักเรียน อย่างไร เมื่อโลกติดลบและเลวร้ายในสายตาเด็ก

 

  • 1.  เรื่องใหญ่ของเขา ไม่จำเป็นต้องใหญ่เท่าของเรา

ถ้ามันเป็นเรื่องใหญ่ มันก็คือเรื่องใหญ่ ตอนเราเป็นเด็ก การทำแก้วแตกหนึ่งใบ ทำของหายหนึ่งชิ้น ทะเลาะกับเพื่อนหนึ่งคน มันอาจจะเป็นโลกทั้งใบเลยก็ได้

 

หากเรามองด้วยสายตาผู้ใหญ่ เหตุการณ์นี้อาจจะเป็น 1 ครั้งจาก 100 ครั้งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว แต่สำหรับเด็กนั้นก็คือ 1 ครั้งจากสิ่งที่เคยเจอ 1 ครั้งหรือ 100% ของชีวิต เมื่อฟังเด็ก เราอาจจะต้องใช้ไม้บรรทัดของเขาในการทำความเข้าใจ เพื่อให้เราสามารถมองโลกเล็กหรือว่าใหญ่ในอัตราส่วนเดียวกัน

 

  • 2.  นี่ต่างเป็นครั้งแรกของทุกคน

“การเป็นผู้ใหญ่ไม่ได้ง่าย และการเป็นเด็กก็ไม่ใช่เรื่องง่าย มันจะง่ายก็ต่อเมื่อเราผ่านไปได้แล้ว”

 

หากเราอายุ 40 ปี มันก็เป็นอายุ 40 ปีครั้งแรกของเรา และมันก็เป็นอายุ 14 ปีครั้งแรกของเด็ก ๆ

 

ทุก ๆ วันที่เราใช้ชีวิตนั้นมีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ วันใหม่ในแต่ละวันจึงเป็นครั้งแรกของกันและกัน ดังนั้นมันคือการเรียนรู้กันและกันในเวอร์ชันใหม่อยู่เสมอ วิธีที่เคยใช้ได้ในโลกเมื่อ 5 ปีก่อน อาจใช้ไม่ได้แล้วในปัจจุบัน พยายามจับมือกัน ฟันฝ่าความไม่แน่นอนและการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกัน

  • 3.  ไม่เข้าใจ…แต่อยากเข้าใจ

สิ่งที่ควรทดไว้ในใจเวลาเด็ก ๆ มาปรึกษาคือ เราไม่มีทางเข้าใจเขาได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ กับผู้ใหญ่เองก็เช่นกัน เราไม่มีทางรู้แน่ชัดว่าอะไรทำให้เขาเลือกทางเลือกแบบนั้น หรือมีพฤติกรรมแบบนั้น เพราะต่างคนต่างก็มีประสบการณ์ที่เติบโตมาไม่เหมือนกัน

 

สิ่งที่เราเห็นเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมด เมื่อคิดว่า “เราไม่มีทางเข้าใจเขาหรอกแต่เราอยากเข้าใจ” จะทำให้เราตั้งใจฟังและสนใจจะถามเพื่อเข้าใจ ไม่ใช่ถามเพื่อตัดสินว่าถูกหรือผิด

 

 

  • 4.  ไม่ต้องมีคำตอบทุกเรื่อง ไม่ต้องมีทางออกเดี๋ยวนั้นก็ได้

เมื่อได้ยินปัญหา สัญชาตญาณของทุกคนมักจะพยายามแก้ปัญหา การไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาทำให้เรารู้สึกไร้ประโยชน์ แต่บางทีการรับฟังและเข้าใจก็เป็นการเยียวยาได้ ไม่จำเป็นต้องมีคำตอบหรือทางออกในทุก ๆ ครั้งที่รับฟัง

 

แค่พูดว่า “ครูเข้าใจเธอมากขึ้นแล้ว ขอบคุณนะที่เล่าให้ฟัง” “ฟังแล้วยากเหมือนกันนะ คงกังวลใจ ลำบากใจน่าดูเลย”

 

การรับฟังและสะท้อนว่าสิ่งที่เขาคิดและรู้สึกนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด อาจเป็นยาใจที่ยิ่งใหญ่แล้วก็ได้ เพราะคำพูดของเราทำให้เขาสามารถยอมรับและจัดวางความรู้สึกนั้น ๆ ให้มีที่อยู่ได้ ท่ามกลางเสียงของคนทั้งโลกหรือเสียงของเขาที่บอกว่า “ไม่ควรคิดแบบนั้น ทำไมถึงคิดแบบนั้น ห้ามคิดแบบนั้น”

 

  • 5.  แย่ก็คือแย่ ไม่ดีก็คือไม่ดี ยอมรับมันให้ได้

กำหนดขนาดเพื่อตั้งหลัก มีจุดเริ่มต้นให้จัดการต่อ

เป้าหมายของการสะท้อนสิ่งที่เขาเผชิญ อาจไม่ใช่การชวนให้เด็ก ๆ มองเรื่องราวในมุมอุดมคติและพยายาม “โลกสวย” แต่คือการทำให้เขา “มองโลกตามความเป็นจริง” เราไม่ควรทำให้เขามองสิ่งที่เกิดขึ้นเล็กจิ๋วเกินจริงหรือขยายมันให้ใหญ่โต ลุกลามไปยังเรื่องอื่น ๆ ไม่รู้จบ

 

เราอาจช่วยตั้งคำถามเพื่อกำหนดขนาดของความรู้สึก ให้เขาเห็นว่ามันไม่ได้ขาว ไม่ได้ดำ ไม่ได้มีแค่ผิดหรือถูก แย่หรือดี แค่สองทางเท่านั้น แต่มีพื้นที่กลาง ๆ และมีมากมีน้อยแตกต่างกันได้

 

การกำหนดขนาดจะทำให้เราทุกข์กับสิ่งต่าง ๆ ตามขนาดที่เป็นจริง ไม่ได้ทนทุกข์ทรมานกับมันจนเกินไป เพราะการบาดเจ็บเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การที่เราจะทุกข์ทรมานกับมันแค่ไหน เราเลือกได้

 

  • 6. ความหวังนั้นสำคัญ…เราอยู่ในโลกที่เลวร้ายได้ ตราบใดที่ยังรักษาความหวังไว้อยู่

เวลาหลงทางอยู่กลางทะเลทราย คนเราอาจจะไม่ได้ตายจากการขาดน้ำ แต่อาจตายเพราะขาดความหวังว่าจะมีแหล่งน้ำอยู่ข้างหน้า การเชื่อว่าไม่มีอนาคตอีกต่อไป เราติดอยู่ในวังวนที่หาหนทางออกไม่ได้ โดดเดี่ยวไม่เหลือใคร คือปัจจัยที่ทำให้คนเราสิ้นหวัง


สิ่งที่จะช่วยทบทวนและรักษาความหวังไว้ได้คือ

  • 1. Personal สิ่งนี้จงใจหรือเจาะจงจะเกิดขึ้นกับเราคนเดียวบนโลกนี้ไหม
  • 2. Permanent สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เกิดถาวรหรือชั่วคราว บางครั้งเราอาจรู้สึกว่าถาวร เพียงเพราะเราต้องเผชิญกับมันยาวนานกว่าที่ใจเราคาดหวัง ทำให้เราไม่รับรู้ความจริงว่าทุกเรื่องนั้นเกิดขึ้นชั่วคราวและมีจุดสิ้นสุดตามธรรมชาติ
  • 3. Pervasive สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เมื่อสิ่งหนึ่งพัง จะทำให้ทุก ๆ อย่างพังตาม ๆ กันไปจริงไหม คนเรามีความสามารถในการปรับตัวไม่ว่ากับเรื่องอะไร การที่หลายสิ่งจะพังตามกันไปเช่นนั้น นั่นแปลว่าเราจะอยู่เฉยและยินยอมที่จะให้มันเกิดโดยไม่จัดการหรือปรับปรุงแก้ไขอะไร เราจะเป็นแบบนั้นจริงไหม มีอะไรที่เตรียมการไว้เพื่อป้องกันหรือบรรเทาได้บ้าง

 

  • 7. การมองบวกไม่ใช่การมองโลกเกินจริง แต่มองในทางที่เป็นประโยชน์และยังคงเกิดขึ้นจริงได้

หลาย ๆ ครั้งเราอาจจะให้คำแนะนำว่าให้คิดบวกเข้าไว้ ซึ่งการมองมุมบวกจะเป็นประโยชน์ได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถมองเห็น “ความคิดอื่น ๆ” เป็นทางเลือกว่าจริง ๆ เรื่องนี้เราคิดได้หลายแบบ และสามารถเลือกความคิดที่เป็นประโยชน์กับชีวิตเรามากกว่าได้ โดยที่ความคิดนั้นอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง

การมองให้ได้หลาย ๆ มุม และเลือกมุมที่เป็นประโยชน์ จะทำให้เด็ก ๆ สามารถใช้ชีวิตต่อไปได้

 

  • 8. ไม่มีทางเลือกที่ดีที่สุด มีแต่ทางเลือกที่มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย

รับฟังเด็กๆ และชวนคิดหาทางออกจากปัญหา ด้วยการถามว่า “เรามีทางเลือกอะไรบ้างในเรื่องนี้” และ “แต่ละทางเลือกมีข้อดีและข้อเสียอย่างไร” การตั้งคำถามแบบนี้จะช่วยให้เรามองเห็นว่าแท้จริงแล้วชีวิตก็มีทางเลือก แต่แค่อาจจะไม่ได้มีทางเลือกที่สมบูรณ์แบบที่สุด

 

ทุกทางเลือกมีสิ่งที่ต้องแลกหรือมีข้อเสีย เมื่อเติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ มันจะไม่เหมือนข้อสอบที่มีคำตอบที่ถูกต้องที่สุด และไม่มีทางที่เราจะได้คะแนนเต็มกับทุกสิ่ง เราทำได้แค่เลือกทางที่มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย และจัดการกับข้อเสียนั้นให้ดีที่สุด

 

  • 9. ยืดหยุ่นที่จะคิด ทำเรื่องอื่นบ้างเพื่อเว้นวรรค และใจดีกับตัวเองให้เป็น

ชีวิตคนเรามีหลายมิติและหลายบทบาท เป็นนักเรียน เป็นลูก เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นนักดนตรี เป็นนักกีฬา การที่ใครสักคนบอกว่า “เราเรียนไม่ได้” ไม่ได้แปลว่า “เราเล่นกีฬาไม่ได้” ไม่ได้หมายความว่า “เราเป็นน้องที่ไม่ดี” เพราะเรายังมีอีกหลายบทบาท

 

การที่ใครบอกว่าเราเป็นอย่างไร ไม่ได้เป็นตัวกำหนดว่าเราจะต้องเป็นไปแบบนั้น เสียงที่สะท้อนและพูดถึงเราเปรียบเสมือนกระจก กระจกเพียงสะท้อนสิ่งที่มองเห็นจากภายนอก แต่ไม่ได้สะท้อนว่าภายในเป็นอย่างไร กระจกไม่เคยพูดออกมาว่าเรา “เราไม่ดี” แต่เราเองที่เป็นคนเห็นภาพในกระจก แล้วประเมินบอกตัวเองว่าเราไม่ดี ดังนั้นแล้วเราต้องฝึกฝนให้พูดถึงตัวเองในแบบที่ใจดีบ้าง ไม่เข้มงวดหรือดุดันเกินไป จนกลายเป็นดุด่าตัวเอง โดยอาจตั้งคำถามว่า “ถ้าเป็นเราที่ใจดีกับตัวเองพูดปลอบใจ เราจะพูดว่าอย่างไร”

 

เราห้ามความคิดไม่ได้แต่เราสามารถหยุดคิดได้ การชวนให้เด็ก ๆ ยืดหยุ่นที่จะคิดในแบบอื่น ๆ หรือหยุดคิดบ้างชั่วขณะจะช่วยให้สามาถเว้นวรรคจากความรู้สึกทุกข์ใจได้เป็นระยะ ซึ่งไม่ได้แปลว่าเราเพิกเฉยหรือละทิ้ง แต่แค่พัก วางมันไว้ แล้วไปทำอย่างอื่น ก่อนจะกลับมาเผชิญหน้าใหม่เมื่อพร้อม

 

  • 10. ปัญหาแรงโน้มถ่วงและสิ่งที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเรา

ถ้าลงมือทำแล้วกลับไม่มีอะไรดีขึ้น ควรชวนเด็ก ๆ ตั้งหลักก่อนว่าอะไรบ้างที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเราและอะไรที่เราควบคุมไม่ได้ เพราะเราอาจกำลังทุ่มแรงไปกับการแก้ไขสิ่งที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของเรา

 

บางครั้งเด็ก ๆ อาจจะกำลังต่อสู้กับ “ปัญหาแรงโน้มถ่วง” อยู่ ซึ่งหมายถึงการพยายามไปเปลี่ยนหรือฝืนในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ยากหรือต้องใช้เวลามากก็ได้ บางทีเราอาจกำลังตั้งคำถามไม่ตรงกับคำตอบอยู่ก็เป็นได้ เราจัดการกับปัญหาแรงโน้มถ่วงได้ด้วยการปรับตัวให้เข้ากับแรงโน้มถ่วง ไม่ใช่การกำจัดแรงโน้มถ่วง แทนที่จะถามว่า “เราจะเปลี่ยนเขาได้อย่างไร” อาจเปลี่ยนเป็น “เราจะอยู่กับคนแบบนี้ได้ด้วยวิธีไหน” ถามแบบหลังอาจจะทำให้เราพบคำตอบ มีทางให้แก้ไขและเดินต่อไปได้อย่างมีความหวัง

 

10 มุมคิดดังกล่าวเป็นแนวทางที่ใช้ “เลือกความคิด” เพื่อให้คำแนะนำในวันที่มีเด็ก ๆ มาระบายให้ฟังว่าโลกนี้โหดร้าย มองไม่เห็นอนาคต

 

การไม่เพิกเฉยและไม่พยายามผลักไส จะช่วยทำให้เรามอบทักษะการคิดแก่เด็ก ประสานความสัมพันธ์ ความรัก และความอบอุ่นเอาไว้ได้

 

ติดตามกระแสรายวัน คมชัดลึก ได้ที่

Website - www.komchadluek.net

Twitter - https://twitter.com/Kom_chad_luek

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ