ข่าว

เปิด 6 ระเบียบใหม่ ตาม "พ.ร.บ.จราจร" กฎเข้ม ที่คนขับควรต้องรู้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"อัยการธนกฤต" เปิดระเบียบใหม่ตาม "พ.ร.บ.จราจร" มีเพียบ อีก 6 ฉบับ ตัดคะแนน สั่งพักใช้-สั่งยึดใบขับขี่ ระงับการใช้รถ เชื่อมโยงข้อมูลคอมพิวเตอร์ระหว่าง ตร.และขนส่ง ใช้ตรวจสอบข้อมูลและประวัติกระทำผิดผู้ขับขี่ และหลักเกณฑ์อุทธรณ์คำสั่งพักใช้ใบขับขี่

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2565 ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการในหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ให้ความเห็นข้อกฎหมายผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว ในประเด็นข้อกฎหมาย เกี่ยวกับระเบียบที่ออกโดยอาศัยอำนาจตาม"พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522" ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 นอกจากจะมีระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการส่งใบสั่งทางไปรษณีย์ พ.ศ. 2565 ตามที่สื่อมวลชนสำนักต่างๆ นำไปเผยแพร่แล้ว ยังมีระเบียบอื่นๆ อีก 6 ฉบับ ซึ่งมีความสำคัญและความน่าสนใจที่ผู้ขับขี่รถควรต้องรู้ไว้ด้วย ดังนี้

 

1.ระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับระบบการบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ พ.ศ. 2565 ออกโดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและอธิบดีกรมการขนส่งทางบก โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 142/1 วรรคสอง และมาตรา 142/4 และใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566)

 

ระเบียบนี้ถือเป็นระเบียบสำคัญ เนื่องจากเป็นกฎหมายลำดับรองหรือกฎหมายลูกซึ่งรองรับการบังคับใช้มาตรา 142/1 ในการตัดคะแนนความประพฤติ โดยแต่เดิมมาแม้จะมีการแก้ไข พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2562 แต่ก็ยังไม่สามารถบังคับใช้มาตรา 142/1 เพื่อตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถได้ เนื่องจากยังไม่มีการออกกฎหมายลูกมารองรับ

ระเบียบนี้กำหนดหลักเกณฑ์ในการบันทึกคะแนน การตัดคะแนน และการคืนคะแนนความประพฤติในการขับรถ โดยเริ่มแรกผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่แต่ละรายมีคะแนนความประพฤติในการขับรถเพื่อใช้ในการบันทึกคะแนนตามระเบียบนี้ จำนวนคนละไม่เกิน 12 คะแนน และการตัดคะแนน มีตั้งแต่ตัดคะแนน ครั้งละ 1 คะแนน ครั้งละ 2 คะแนน ครั้งละ 3 คะแนน และครั้งละ 4 คะแนน ผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ซึ่งถูกตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถจนเหลือศูนย์คะแนนจะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ทุกชนิดคราวละ 90 วัน สำหรับสาระสำคัญของระเบียบนี้ เนื่องจากมีรายละเอียดมากจึงจะได้กล่าวถึงแยกต่างหากในครั้งต่อไป

 

2. ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ พ.ศ. 2565 ออกโดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. จราจรทางบกฯ มาตรา 142/1 วรรคสาม และมาตรา 142/2 และใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566)

 

สาระสำคัญของระเบียบนี้ คือ

 

(1) ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ถูกตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถ จนเหลือศูนย์คะแนน ให้ดำเนินการสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ทุกประเภทของผู้นั้นคราวละ 90 วัน
(2) คำสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ให้ทำเป็นหนังสือและให้แจ้งให้นายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกทราบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
(3) ให้นับวันเริ่มต้นของคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่เมื่อพ้นกำหนด 30 วัน นับจากวันที่คะแนนของผู้ขับขี่นั้นเป็นศูนย์คะแนน
 

3.ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ พ.ศ. 2565 ออกโดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. จราจรทางบกฯ มาตรา 142/5 วรรคสอง และใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป

 

สาระสำคัญของระเบียบนี้ คือ ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้กระทำความผิดที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ครั้งละไม่เกิน 90 วัน โดยให้พิจารณาถึงความร้ายแรงตามพฤติการณ์แห่งกรณี

 

(1) มีเหตุหรือก่อให้เกิดหรือน่าจะก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสาธารณะ หรือ
(2) มีลักษณะเป็นภัยแก่ประชาชนอย่างร้ายแรง หรือ
(3) มีพฤติการณ์หลบหนีเมื่อตนเองก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น

 

การแจ้งคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ให้ทำเป็นหนังสือ โดยมีรายละเอียดตามที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ และให้แจ้งให้นายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกทราบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์

 

4. ระเบียบว่าด้วยการยึดใบอนุญาตขับขี่ การบันทึกการยึดใบอนุญาตขับขี่ด้วยวิธีการทางข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์และระงับการใช้รถเป็นการชั่วคราว พ.ศ. 2565 ออกโดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและอธิบดีกรมการขนส่งทางบก โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. จราจรทางบกฯ มาตรา 140/2 และใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566)

 

สาระสำคัญของระเบียบนี้ คือ

 

(1) ในกรณีที่เจ้าพนักงานจราจรได้ว่ากล่าวตักเตือนหรือออกใบสั่งให้ผู้ขับขี่ตามมาตรา 140 แล้ว หากเจ้าพนักงานจราจรเห็นว่า ผู้นั้นอยู่ในสภาพที่หากให้ขับรถต่อไปอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สินของตนเองหรือผู้อื่น ให้เจ้าพนักงานจราจรเรียกดูใบอนุญาตขับขี่ หากผู้ขับขี่มีใบอนุญาตขับขี่อยู่กับตัว ให้เจ้าพนักงานจราจรที่มียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป มีอำนาจยึดใบอนุญาตขับขี่ หรือบันทึกการยึดใบอนุญาตขับขี่ด้วยวิธีการทางข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อไม่ให้ผู้นั้นขับรถต่อไปอีก

 

แต่หากไม่สามารถยึดใบอนุญาตขับขี่หรือบันทึกการยึดใบอนุญาตขับขี่ด้วยวิธีการทางข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้ ให้เจ้าพนักงานจราจรที่มียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไปมีอำนาจระงับการใช้รถเป็นการชั่วคราวเพื่อมิให้ผู้นั้นขับรถ

 

(2) ให้เจ้าพนักงานจราจรคืนใบอนุญาตขับขี่ หรือยกเลิกการบันทึกการยึดใบอนุญาตขับขี่ด้วยวิธีการทางข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ขับขี่อยู่ในสภาพที่สามารถขับรถต่อไปได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สินของตนเองหรือผู้อื่น

 

5. ระเบียบว่าด้วยการประสานข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับประวัติและการกระทำความผิดตามกฎหมายของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ ข้อมูลทะเบียนรถ และข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. 2565 ออกโดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและอธิบดีกรมการขนส่งทางบก โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. จราจรทางบกฯ มาตรา 4/1 และใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป

 

สาระสำคัญของระเบียบนี้ คือ

 

(1) ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมการขนส่งทางบกจัดให้มีข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของแต่ละฝ่าย ประกอบด้วย ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติและการกระทำความผิดตามกฎหมายของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ ข้อมูลทะเบียนรถ และข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องและจัดให้มีการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์เพื่อให้มีการประสานข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างกัน


(2) ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมการขนส่งทางบก ประสานข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้รวบรวมจัดเก็บไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในฐานข้อมูลของแต่ละฝ่าย เพื่อควบคุมและบังคับใช้กฎหมายตามอำนาจหน้าที่ของตน


(3) ให้กรมการขนส่งทางบกประสานข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ในส่วนของข้อมูลประวัติอาชญากรรมเท่าที่จำเป็นจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ แต่ต้องได้รับความยินยอมให้เข้าถึงข้อมูลจากบุคคลเจ้าของประวัติก่อน เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาและตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตขับขี่ ผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตขับขี่ หรือผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่

 

6. ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการอุทธรณ์คำสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ พ.ศ. 2565 ออกโดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. จราจรทางบกฯ มาตรา 142/8 และใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป

 

สาระสำคัญของระเบียบนี้ คือ

 

(1) ผู้ได้รับคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบกฯ มาตรา 142/1 หรือมาตรา 142/5 มีสิทธิอุทธรณ์ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
(2) การอุทธรณ์ต้องทำเป็นหนังสือโดยระบุข้อโต้แย้งประกอบข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายและเหตุผลในการอุทธรณ์ และลงลายมือชื่อและที่อยู่ของผู้อุทธรณ์
(3) ให้ผู้อุทธรณ์ยื่นหนังสืออุทธรณ์ด้วยตนเองหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับต่อผู้ที่มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ โดยตรงภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่
(4) ให้พิจารณาอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ หากพิจารณาไม่แล้วเสร็จในกำหนดให้ถือว่าคำอุทธรณ์มีผลและให้ถือว่าคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่สิ้นสุด


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ