ข่าว

"กทม"เดินหน้าแก้ไขปัญหาขยะศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"กทม"เดินหน้าแก้ไขปัญหาขยะศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ที่ส่งกลิ่นเหม็น จนกลายเป็นผลกระทบต่อชุมชนระเเวกใกล้เคียง พร้อมชวนประชาชนมีส่วนร่วมติดตามการทำงาน

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่โครงการบริหารจัดการมูลฝอยชุมชน เพื่อผลิตพลังงาน ขนาดไม่น้อยกว่า 800 ตัน/วัน ณ ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช เขตประเวศ ร่วมกับผศ.ดร.ประแสง มงคลศิริ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อม บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และสำนักงานเขตประเวศ ว่า หลังจากที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มาตรวจการบริหารจัดการขยะมูลฝอยภายในศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช และตรวจสอบปัญหากลิ่นที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่อาศัยโดยรอบนั้น สำนักสิ่งแวดล้อมได้หารือร่วมกับและบริษัทกรุงเทพธนาคม หรือ KT โดยสิ่งแรกที่ KT ทำเสร็จแล้ว คือ การติดตั้งม่านอากาศในอาคารรับขยะ และอาคารเก็บขยะเชื้อเพลิง (RDF) ซึ่งของเดิมมีเพียงสเปรย์น้ำอย่างเดียว ม่านอากาศจะทำหน้าที่ปล่อยอากาศออกมาเพื่อลดกลิ่นให้น้อยลง โดยได้ติดตั้งม่านอากาศบริเวณประตูทางเข้าอาคารทั้ง 2 แห่ง ในส่วนของตัวโดมอาคารรับขยะ เมื่อมาตรวจครั้งที่แล้วยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ แต่ในขณะนี้ทาง KT ได้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว

 

 

สำหรับขยะที่รถบรรทุกนำเข้ามาเทแล้ว จะมีรถไถขยะลงในหลุมรับขยะทั้งหมด ไม่ให้มีขยะกองหลงเหลืออยู่ที่พื้น ส่วนรถบรรทุกขยะเมื่อนำขยะเข้ามาเทแล้ว จะให้กลับออกทางเดิม เมื่อขยะลงหลุมรับขยะแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนของถังหมัก ซึ่งในจุดนี้จะมีปริมาณของกลิ่นมากที่สุด ทาง KT ได้ติดตั้งเครื่องดูดอากาศในจุดนี้แล้วเสร็จทั้งหมด 14 ตัว โดยตัวเครื่องนี้จะดูดอากาศที่มีกลิ่นเข้าไปผสมกับน้ำ จากนั้นจะกลายเป็นน้ำเสีย นำเข้าสู่กระบวนการบำบัดเพื่อใช้ในโรงงาน จะไม่มีการปล่อยออกนอกโรงงาน 

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยสรุปแล้วจะมีระบบใหม่ที่เพิ่มเข้ามา 3 อย่าง ได้แก่ ม่านอากาศ ระบบบำบัดกลิ่น และเครื่องวัดกลิ่น แต่เดิมทาง KT จะมีสเปรย์น้ำเพียงอย่างเดียว ซึ่งใน 3 อย่างแล้วเสร็จไปแล้ว 1 อย่าง คือ ม่านอากาศ ส่วนระบบบำบัดกลิ่นได้ติดตั้งแล้ว โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมมีหนังสือให้ KT ทดลองการเดินระบบ เพื่อดูประสิทธิภาพของระบบบำบัดกลิ่น ส่วนเครื่องวัดกลิ่น อยู่ระหว่างหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงปลูกต้นไม้เพิ่มเติมบริเวณทางเข้าและพื้นที่โดยรอบ นอกจากนี้สำนักสิ่งแวดล้อมได้มีหนังสือถึงประธานหมู่บ้านอิมพีเรียลพาร์ค และหน่วยงานราชการ (กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักอนามัย สำนักงานเขตประเวศ) เพื่อขอรายชื่อผู้แทนหมู่บ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการติดตามตรวจสอบการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโรงงานกำจัดมูลฝอยชุมชนเพื่อผลิตพลังงาน ขนาดไม่น้อยกว่า 800 ตัน/วัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอรายชื่อผู้แทนดังกล่าว 

“การมีส่วนร่วมในทำงานระหว่างกรุงเทพมหานครกับประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเมื่อไหร่ที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อกรุงเทพมหานครก็จะมีมากขึ้น เป็นการทำงานที่โปร่งใส เปิดเผยข้อมูล ทำงานอย่างตรงไปตรงมา ในขณะเดียวกันเมื่อเกิดปัญหา เราต้องบอกให้ประชาชนทราบถึงวิธีการแก้ไขปัญหา ขั้นตอนกระบวนการทำงาน ถ้าเป็นอย่างนี้ได้แล้ว จะเกิดประโยชน์ในด้านการบริการประชาชน การทำงานของกรุงเทพมหานครจะมีการพัฒนามากกว่าในอดีต หากประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานและแก้ไขปัญหาไปกับเรา การทำงานทุกอย่างจะเกิดประสิทธิภาพ เป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ประชาชนสามารถที่จะร่วมมือกับเราได้ทุกเรื่อง เป็นการพัฒนากรุงเทพมหานครต่อไปในอนาคต และผลสำเร็จที่เกิดขึ้นกับประชาชนอย่างแท้จริง” รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวในตอนท้าย 
 

logoline