ข่าว

หนาวแน่! จ่อขึ้น "ค่าไฟ" 5 บาทต่อหน่วย งวดก.ย.-ธ.ค.65

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปลายสัปดาห์นี้ กกพ. พิจารณาปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร(FT) เดือนก.ย.-ธ.ค. 65 ส่งผลกระทบประชาชนแบกภาระค่าไฟขึ้น 5 บาทต่อหน่วย ปัญหาจาก๊าซ LNG ในอ่าวไทยไม่เพียงพอและนำเข้าแพงอย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 65 มีรายงานข่าวจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ปลายสัปดาห์นี้ คณะกรรมการ กกพ. เตรียมพิจารณาทบทวน และปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าFT) งวดเดือน ก.ย.- ธ.ค. 2565  ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงถึง 90-100 สตางค์ต่อหน่วย และอาจทำให้ค่าไฟฟ้าต้องปรับเพิ่มสูงถึงเกือบ 5 บาทต่อหน่วย ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ โดยสำนักงานกกพ.จะมีการประกาศค่าFTดังกล่าวอย่างเป็นทางการช่วงปลายเดือนก.ค. หรือต้นเดือนส.ค.นี้ 

 

สาเหตุของการปรับค่าFT ดังนี้
- ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นำเข้าเพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ยังมีแนวโน้มราคาแพงต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพ.ค. 2565 จนถึงปัจจุบัน โดยราคาLNG นำเข้าตอนนี้พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนพุ่งสูงแตะระดับ 30 กว่าดอลลาร์ต่อล้านบีทียู  จากเดิมอยู่ที่ 20 กว่าดอลาร์ต่อล้านบีทียู

- ภาระต้นทุนจากการอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงต่อเนื่อง โดยประมาณการค่าเฉลี่ยเดือนพ.ค. 2565 อยู่ที่ 34.40 บาทต่อดอลลาร์ ถือเป็นปัจจัยที่นอกเหนือการควบคุม    ขณะที่ปัจจุบัน ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ราว 36 บาทต่อดอลลาร์ 
 

-ปริมาณก๊าซในอ่าวไทยยังขาดความชัดเจน ช่วงระหว่างการเปลี่ยนผู้รับสัมปทานแหล่งก๊าซเอราวัณ ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติต้นทุนต่ำ และแหล่งเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า จากเดิมมีปริมาณก๊าซจากแหล่งเอราวัณป้อนเข้าสู่ระบบได้ถึง 1,000 ล้านลูกบาศก์ลิตรต่อวัน จนถึงขณะนี้ผู้รับสัมปทานก็ยังไม่สามารถแจ้งปริมาณที่จะขยายกำลังการผลิตเพื่อชดเชยก๊าซที่ขาดหายไปได้อย่างชัดเจน ทำให้การบริหารจัดการ และการวางแผนทำได้ยากมากขึ้นด้วย

 

ซึ่งกกพ.ได้รับแจ้งเพียงว่า ระยะเวลาที่จะทำให้ปริมาณก๊าซธรรมชาติกลับมาเพียงพอต่อความต้องการในระดับเดิมก่อนเปลี่ยนสัมปทานอาจจะต้องใช้ระยะเวลาสำรวจ ขุดเจาะ ผลิตอีกประมาณ 2 ปี หมายความว่า ค่าไฟฟ้าจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนเชื้อเพลิงราคาแพงจากการนำเข้า LNG ทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวอีกอย่างน้อย 2 ปีเช่นกัน และคาดการณ์ได้ว่า ไทยจะเผชิญกับภาวะค่าไฟแพงต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีนี้ และต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2566

 

ทั้งนี้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แบกรับแทนประชาชนอีกกว่า 80,000 ล้านบาทในงวดก่อนหน้า ที่กกพ. อาจจะต้องเข้าไปดูแลช่วยลดภาระต้นทุนผ่านการทยอยปรับเพิ่มผ่านค่าFTด้วย  ดังนั้น หากให้ กฟผ.แบกรับภาระต้นทุนต่อโดยไม่มีการทยอยคืนให้ผ่านการปรับเพิ่มค่าFT อาจทำให้ กฟผ. ต้องแบกรับถึง 100,000 ล้านบาทภายในปีนี้ โดยตั้งแต่ต้นปี กกพ. ทยอยปรับค่า FT ขอให้ กฟผ.แบกรับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิง ต่อมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ กฟผ. กู้เงินมา เพื่อเสริมสภาพคล่องจำนวน 25,000 ล้านบาท

 

ก่อนหน้านี้  เมื่อเดือนมีนาคม กกพ. ได้มีมติให้ปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าFT สำหรับเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2565 โดยให้เรียกเก็บที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 23.38 สตางค์ต่อหน่วย จากงวดก่อนหน้า มาเป็น 4.00 บาทต่อหน่วย ขณะนั้นสาเหตุที่ทำให้เรียกเก็บที่ 24.77 บาท  มาจากผลกระทบสถานการณ์โลก ซึ่งส่งผลต่อวิกฤตราคาพลังงานโลกเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทำให้ กกพ. ต้องปรับค่าFTใหม่ให้สะท้อนราคาเชื้อเพลิงในสถานการณ์

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ