ข่าว

วอน นายกฯ ดัน "งบฯ 1.5 หมื่นล้าน" เพิ่มศักยภาพศูนย์ข้าวชุมชน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เครือข่ายศูนย์ข้าวชุมชน วอน นายกฯลุงตู่ เห็นใจชาวนา ดัน "งบฯ 1.5 หมื่นล้าน" เพิ่มศักยภาพศูนย์ข้าวชุมชนให้เข้มแข็งสู่ความมั่นคง

เกียรติศักดิ์ กายสุต ประธานศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหาดสูง ต.หาดสูง อ.โกรกพระ จ.นครสวรรค์ กล่าวกรณีนักการเมืองตั้งข้อสังเกตการเสนอกรอบการขอ "งบประมาณของกรมการข้าว" กระทรวงเกษตรฯ ประจำปี 2566 แบบก้าวกระโดดจากเดิมได้รับจัดสรรประมาณ 2,000 กว่าล้านบาท ทว่าปีงบประมาณพ.ศ.2566 กลับเพิ่มขึ้นถึง "15,260 ล้านบาท" เพื่อสนับสนุนศูนย์ข้าวชุมชน ทั่วประเทศ ภายใต้โครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้นำไปจัดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร ว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งในการที่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณสนับสนุนศูนย์ข้าวชุมชนทั่วประเทศ

     นายเกียรติศักดิ์ กายสุต ประธานศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหาดสูง

 

นายเกียรติศักดิ์ กล่าวว่า เป็นการสร้างความเข้มแข็ง มั่งคงอย่างยั่งยืนให้กับชาวไทย ที่ผ่านมาแม้หน่วยงานหลักอย่าง "กรมการข้าว" สนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตร แต่ก็ยังไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับปริมาณการผลิตข้าว ทั้งยังเป็นการลดต้นทุนได้อีกด้วย

      ศูนย์ข้าวชุมชน

“เครื่องจักรที่ศูนย์อยากได้ก็มี รถไถ รถหว่านข้าว  รถเกี่ยว ตอนนี้แรงงานหายากมากแล้วก็ค่าจ้างแพงด้วย มันคือต้นทุน หากได้มาก็จะช่วยสมาชิกได้เยอะมาก นอกจากนี้ยังต้องมีเครื่องอบความชื้น เครื่องคัดเมล็ดพันธ์ โดรนฉีดพ่นปุ๋ยและยาฆ่าโรคและแมลง ที่มีตอนนี้ คือ เครื่องคัดเมล็ดพันธุ์สนับสนุนโดยกรมการข้าวใช้ดีมากได้มา 2 ปีที่แล้วแต่เป็นตัวเล็กอยากได้ตัวใหญ่กว่านี้ ด้วยปริมาณงานที่เพิ่มมากขึ้น”ประธานศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหาดสูง กล่าว

 

ติดตามข่าวสาร คมชัดลึก อื่นๆ ได้ที่
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek
LineToday- https://today.line.me/th/v2/publisher/100057

       ศูนย์ข้าวชุมชน

 

สำหรับศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหาดสูง ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2544  มีสมาชิกจำนวนทั้งสิ้น 50 ราย มีพื้นที่ปลูกข้าวครอบคลุมกว่า 600 ไร่ ให้ผลผลิตข้าวเฉลี่ย 800-1,000 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนใหญ่ปลูกปีละ 2 ครั้ง มีทั้งนาปีและนาปรัง เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตชลประทาน

 

โดยสายพันธุ์ที่ปลูกถ้าเป็นนาปีจะปลูกข้าวหอมมะลิ105 พิษณุโลก 80 ส่วนนาปรังเป็นข้าวกข.ทั่วไป โดยปีนี้ราคาค่อนข้างดีเฉลี่ยอยู่ที่ 8,000-9,000 บาทสำหรับข้าวนาปรัง ถือว่าอยู่ได้แม้ต้นทุนจะสูงขึ้นเฉลี่ยอยู่ 5,000-6,000 ต่อไร่ อันเนื่องมาจากราคาปุ๋ยเคมีที่แพงขึ้นเป็นเท่าตัว

 

นายเกียรติศักดิ์ เห็นด้วยกับการรวมกลุ่มของชาวนาภายใต้ศูนย์ข้าวชุมชนมากกว่ารายเดี่ยว เนื่องจากง่ายต่อการบริหารจัดการ การถ่ายทอดองค์ความรู้ ขณะที่เกษตรกรรายเดี่ยวไม่ค่อยพัฒนายังคงใช้องค์ความรู้แบบเดิม จึงยากต่อการพัฒนาผลผลิตข้าวให้มีคุณภาพ ตลอดการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์สุงสุด ทั้งยังง่ายต่อการรับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ภาครัฐอีกด้วย

 

“งบหมื่นห้าพันล้านที่รัฐบาลและ "กรมการข้าว" เสนอเตรียมจัดสรรให้กับศูนย์ข้าวชุมชนทั่วประเทศนั้น ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งเพื่อให้ศูนย์ฯเข้มแข็ง ถ้าศูนย์เข้มแข็งชาวนามีรายได้อยู่ดีกินดี ก็ไม่ต้องพึ่งพารัฐให้เข้ามาช่วย แต่เป็นสิ่งที่นักการเมืองไม่ต้องการเพราะเขาจะเสียผลประโยชน์"

 

นายเกียรติศักดิ์ กล่าวว่า ลองไปเช็กดูได้นักการเมืองเกินครึ่งสภาหมวกอีกใบเป็นพ่อค้า เจ้าของโรงสี หากศูนย์ฯข้าวเข้มแข็ง ดูแลตัวเองได้ บริหารจัดการตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ จากข้าวเปลือกสีเป็นข้าวสารบรรจุถุงขายหรือแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ ไม่มีการขายข้าวเปลือกแบบเดิม เท่ากับเป็นการตัดแข้งตัดขาพ่อค้า โรงสีจะเสียประโยชน์ ไม่มีข้าวเปลือกขาย เพราะโรงสีส่วนใหญ่เจ้าของเป็นนักการเมือง

 

"อยากวิงวอนนายก ฯพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เข้ามาดูแลผลประโยชน์ชาวนาอย่างจริงจัง ปลดแอกจากนักการเมืองเพราะไม่เช่นนั้นชาวนาก็จะอยู่ในสภาพเช่นนี้ต่อไปไม่มีวันลืมตาอ้าปากได้ " 

     นายกาเรียน พรมอยู่  ประธานศูนย์ข้าวชุมชนบ้านท่าตาเสือ

 

เช่นเดียวกับนายกาเรียน พรมอยู่  ประธานศูนย์ข้าวชุมชนบ้านท่าตาเสือ ต.วัดขวาง อ.โพธิ์ทะเล จ.พิจิตร ที่ไม่เห็นด้วยกับการตัดงบประมาณจำนวน 15,000 ล้านบาทที่เสนอโดยกรมการข้าว เพื่อจัดซื้อเครื่องจักรกลทางการเกษตรให้กับศูนย์ข้าวชุมชนทั่วประเทศ เพราะสมาชิกจะได้รับประโยชน์สูงสุดและเป็นการช่วยชาวนาสามารถลืมตาปากได้

 

ที่สำคัญเป็นการสนองนโยบาย 4.0 ของรัฐบาลในการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาช่วยอาชีพการทำนาในการลดต้นทุนการผลิตอีกด้วย 

 

ถ้ารัฐบาลต้องการช่วยชาวนาตอนนี้ต้องเริ่มแล้วแต่อย่าไปกระจุกต้องกระจายสมาชิกต้องได้รับประโยชน์สูงสุด  เป็นการดึงดูดให้ชาวนามารวมกลุ่มกันมากขึ้น ทำให้เขาลืมตาอ้าปากได้ ถ้าไม่เป็นกลุ่ม เขาก็จะไม่ยอมเรียนรู้จะทำนาแบบเดิม ๆ ถ้าทำอย่างนี้สามารถให้เขาวิธีคิดได้

 

เห็นจากแปลงใหญ่ที่เขาใช้เครื่องจักรร่วมกัน ใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกัน ลดต้นทุนได้เยอะมาก  อยากให้ศูนย์ข้าวเหมือนแปลงใหญ่ แต่แปลงใหญ่ไม่เวิร์ค มีพืชหลากหลาย เกษตรกรไม่ใช่มือบริหาร ส่วนศูนย์ฯ ข้าวสมาชิกทุกคนคือผู้เชี่ยว
ชาญการทำนา รู้วิธีการผลิตเพียงแต่ขาดเทคโนโลยีนวัตกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ” ประธานศูนย์ข้าวชุมชนบ้านท่าตาเสือ ย้ำชัด

 

นายกาเรียน เผยต่อว่า ปัจจุบันศูนย์ข้าวชุมชนบ้านท่าตาเสือมีสมาชิก 32 ราย มีพื้นที่ปลูกข้าวครอบคลุมกว่า 600 ไร่ มีภารกิจหลักในการผลิตเมล็ดพันธุ์ส่งให้กับ "กรมการข้าว" และจำหน่ายให้กับสมาชิกและเกษตรกรทั่วไปปีละประมาณ 100 ตัน ขณะเดียวกันก็ผลิตข้าวส่งโรงสีในรูปของข้าวเปลือก ส่วนหนึ่งก็แปรรูปเป็นข้าวสารบรรจุถุงภายใต้แบรนด์ "ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านท่าตาเสือ”  

 

“ศูนย์ข้าวชุมชนมีความต้องการอย่างมากวัสดุอุปกรณ์ อยากฝากไปถึงนักการเมืองขอให้ผ่านงบตัวนี้ เพราะมีประโยชน์กับชาวนามากกว่าที่จะมาโจมตีกัน ผมอยากเห็น นายกฯเห็นความสำคัญเรื่องกลุ่ม เป็นสิ่งจำเป็นที่สุดในเวลานี้   เกษตรกรชาวนาได้ประโยชน์มหาศาลแน่ ๆ ได้กำไรเป็นกอบเป็นกำมากกว่าทำรายเดี่ยว ปรับเปลี่ยนการทำนาแบบเดิม ๆ มาเป็นชาวนามืออาชีพ”  นายกาเรียน พรมอยู่  ประธานศูนย์ข้าวชุมชนบ้านท่าตาเสือ กล่าวย้ำทิ้งท้าย

 

เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Website -  www.komchadluek.net
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek
LineToday- https://today.line.me/th/v2/publisher/100057

logoline