ข่าว

"บีทีเอส" เฮ "ศาลปกครอง" สั่งยกเลิกล้ม ประมูล "รถไฟฟ้าสายสีส้ม"

"บีทีเอส" เฮ "ศาลปกครอง" สั่งยกเลิกล้ม ประมูล "รถไฟฟ้าสายสีส้ม"

07 ก.ค. 2565

"บีทีเอส" เฮ ศาลปกครอง สั่งยกเลิก คำสั่งล้ม ประมูล "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็นบรรทัดฐานของนักลงทุน

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.บีทีเอส ให้สัมภาษณ์ภายหลัง คำพิพากษาของศาลปกครอง ว่า รู้สึกพึงพอใจที่ศาลปกครอง มีคำพิพากษาว่า การเพิกถอนประกาศยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีมติยกเลิกการประกาศยกเลิกดังกล่าว ถือเป็นเรื่องที่ดี และเป็นบรรทัดฐานการประมูลของบ้านเรา

 

 

 

 

ซึ่งเราต่อสู้โดยที่ไม่รู้ว่าจะชนะหรือแพ้ แต่เราอยากให้เกิดการประมูลที่โปร่งใสตรวจสอบได้และเป็นธรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ  เป็นเรื่องที่สำคัญเพราะจะเกี่ยวข้องกับชื่อเสียงของประเทศและความเชื่อมั่นของนักลงทุน ส่วนแนวทางการดำเนินการหลังจากนี้ ต้องหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องและฝ่ายกฎหมายก่อนว่า เราจะทำอะไรต่อหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีคดีที่ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งศาลนัดวันที่ 27 ก.ย.นี้ เพื่อพิจารณาว่าคดีมีมูลหรือไม่ 

 

 

ศาลปกครองกลาง พิพากษาเพิกถอนมติยกเลิกการประมูลครั้งแรกของคณะกรรมการคัดเลือกฯ และประกาศยกเลิกการประมูลของ รฟม. โดยชี้ว่า เป็นการใช้ดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนมติคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564 ที่เห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และการยกเลิกคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯดังกล่าว  และเพิกถอนประกาศการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เรื่อง ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และการยกเลิกคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯดังกล่าว ลงวันที่ 3 ก.พ. 2564

 

ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ  และ รฟม.มีประกาศดังกล่าว  ตามที่ ที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส ยื่นฟ้อง คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม.กรณีมติยกเลิกการประมูลในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ เป็นเหตุให้ บีทีเอส ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย

สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.บีทีเอส

ศาลปกครองให้เหตุผลว่า แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏตามรายงานการประชุมของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ในวันที่ 3 ก.พ.2564 ว่า การมีมติยกเลิกการคัดเลือกดังกล่าว เพื่อช่วยลด หรือแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งในการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) แต่ปรากฏเพียงความเห็นของ รฟม. ในเรื่องนี้ว่า เอกชนผู้ซื้อเอกสารประกวดราคา และ บีทีเอส ไม่มีความเสียหายใดใดจากการยกเลิกการคัดเลือกดังกล่าว
 

 

การที่ คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม.ประกาศยกเลิกกาประมูลโดยไม่เปิดให้ บีทีเอส หรือผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่น ได้แสดงความคิดเห็นเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง เพื่อมาช่วยลดหรือแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งในการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) หรือ รอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา เสียก่อน  จึงฟังไม่ได้ว่า มติของคณะกรรมการคัดเลือกฯ และประกาศของ รฟม. ในวันที่ 3 ก.พ.2564 มีเหตุผลและความจำเป็น ตาม พ.ร.บ.การร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562  ถือเป็นมติและประกาศที่ออกโดยใช้ดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

พิพากษาเพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ตามการประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ที่เห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ลงวันที่ 3 ก.ค.63 และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯดังกล่าว และเพิกถอนประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เรื่องยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าว ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติ และตั้งแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีประกาศ

 

 

เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Website -  www.komchadluek.net
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057