ข่าว

"ครู" ไม่สบายใจ หลังกมธ.วิสามัญผ่าน ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ม.14-17

"ครู" ไม่สบายใจ หลังกมธ.วิสามัญผ่าน ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ มาตรา 14-17 หวั่นครูรุ่นใหม่เป็นได้เพียง "ลูกจ้าง" เกิดธุรกิจการศึกษากระทบคนจน

นายไกรทอง กล้าแข็ง  ประธานชมรมครู กทม.ออนไลน์ เปิดเผย “คมชัดลึกออนไลน์” ถึงความคืบหน้าการพิจารณา ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ....ว่าการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม 2565 กมธ.วิสามัญฯ เสียงข้างมากมีมติผ่านมาตรา 14-17 ซึ่งมีเนื้อหาสาระสรุปได้ดังนี้

มาตรา 14 ให้โรงเรียนมีความพร้อม คนพิการมีระบบการเรียนรวม มีค่าตอบแทนพิเศษ เปิดทางยุบควบรวมโรงเรียนได้ มีการป้องกันการรบกวนการสอนของ ครู ห้ามมอบงานอื่นนอกการเรียนการสอน ฯลฯ

 

มาตรา 15 ให้เอกชนจัดการศึกษาได้ทั้งแสวงหากำไร และไม่แสวงหา หากไม่ได้รับมาตรการทางภาษี ลดหย่อนหรือยกเว้น ฯลฯ

 

มาตรา 16 ให้ครูเอกชนได้รับเงินเดือนสอดคล้องครูของรัฐ ให้รัฐต้องอุดหนุน

 

มาตรา 17 ให้เอกชนมีส่วนร่วม เป็นแหล่งเรียนรู้ หรือที่ฝึกปฏิบัติงานได้รับลดหย่อน ลด หรือยกเว้นภาษี


"ผมเห็นว่า กมธ.วิสามัญฯผ่านมาตราและสาระสำคัญข้างต้น ทั้งมาตรา 15 และ 16 มีความสอดคล้องกัน ผมตั้งข้อสังเกตมาตรา 35 ว่า ต่อไปข้าราชการครูฯ อาจถูกลดสถานะเป็นเพียงลูกจ้างนั้น ค่อนข้างจะมีความเป็นไปได้สูงมากทีเดียว"


เพราะหากวิเคราะห์ข้อความของมาตรา 15 ประกอบมาตรา 16 แล้วนั้น จะพบว่า เอกชนจัดการศึกษาได้ และให้ "ครูเอกชน" ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน เงิน หรือสิทธิประโยชน์อื่นให้สอดคล้องกับ "ครู" ของสถานศึกษาของรัฐในระบบดังกล่าว 

 

ติดตามกระแสโซเชี่ยลเพิ่มเติม: https://www.facebook.com/komchadluek/

ทั้งนี้ รัฐต้องจัดให้มีเงินอุดหนุนแก่ครูของสถานศึกษาของเอกชนเป็นการเพิ่มเติมตามที่กฎหมายกำหนด ก็หมายความว่า รัฐจะต้องจัดงบประมาณมาอุดหนุนครูเอกชน ซึ่งอาจต้องพิจารณาความเป็นไปได้ของงบประมาณ ซึ่งอาจต้องลดจำนวนข้าราชการครูฯ ของรัฐลง 

 

“หรือแปลงสภาพ หรือครู รุ่นน้องอาจได้เป็นเพียง ”ลูกจ้าง“ ไม่ใช่ “ข้าราชการครู” อีกต่อไปหรือไม่ เพราะอาจจะมีข้อจำกัดทางงบประมาณหรือไม่อย่างไร เพราะงบประมาณอาจต้องจัดอุดหนุนให้ครูเอกชนตาม พ.ร.บ.การศึกษาฯ นี้”

 

แต่สิ่งหนึ่งที่น่าห่วงซ้ำคือ หากเอกชนจัดการศึกษาเป็นที่แพร่หลาย แล้วไม่มีมาตรการควบคุมดูแลที่ดีพอ อาจกระทบต่อเด็กที่ผู้ปกครองต้องหาเช้ากินค่ำ หรือกระทบต่อผู้ปกครองที่มีภาวะรายได้ทางเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคง ซึ่ง "คนจน" มีอยู่จำนวนมากในประเทศไทย หากเทียบภาพให้เห็นได้ชัด จะพบว่า "คนจน" อยู่ในฐานล่างสุดของภาพพีระมิด

 

อย่างไรก็ตาม "คนจน" มีสิทธิที่จะเรียนเอกชน แต่ในความเป็นจริงอาจจะไม่โอกาส หรือไม่มีความสามารถในการเข้าเรียนได้ หรือแม้แต่บุตรหลานของคนที่พอมีอันจะกินได้เรียนเอกชน แล้วโรงเรียนเอกชนมีการปรับขึ้นค่าต่าง ๆ แล้ว อาจจะเกิดปัญหาตามมาภายหลังได้ ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีผู้ปกครองได้ร้องเรียนไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเรื่องการปรับขึ้นค่าต่าง ๆ ของโรงเรียนเอกชนมาแล้ว

 

แต่ "ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ" ที่กำลังพิจารณากันอยู่นี้ ดูเหมือนจะพยายามผลักภาระของรัฐไปให้เอกชนแสวงหากำไรหรือไม่อย่างไร โดยให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการคู่ขนานรัฐ ถ้ามีเอกชนจัดการศึกษามากจนเกินไป และขาดการควบคุมที่ดีพอ อาจจะกระทบต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศก็เป็นไปได้

 

“ผมเชื่อลึก ๆ ว่า มีกรรมาธิการวิสามัญฯ หลายท่าน ก็ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับนี้เท่าไรนัก แต่เป็นเพราะว่า เป็นผู้ที่มีเสียงข้างน้อยแค่นั้นเอง จึงต้องดำเนินไปตามเสียงข้างมากของคณะกรรมาธิการฯ”
 

ติดตามข่าวคมชัดลึกอื่นๆได้ที่ https://www.komchadluek.net/

ข่าวยอดนิยม