ข่าว

"ครู" ทำอะไรบ้างที่ "โรงเรียน" ถึงที่เวลาต้อง "ลดภาระงานครู" หรือยัง?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ภาพจำ "ครู" จบชีวิตตัวเอง สุดสะเทือนใจตรงข้อความในจดหมาย ฉบับสุดท้าย "ภาระงานที่ โรงเรียน มีเยอะ" เป็นอีกปมที่ทำให้ครูเลือกทางเดินชีวิตแบบนี้ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ศธ.จะปรับนโยบาย "ลดภาระงานครู" ในโรงเรียนอย่างจริงจัง

เมื่อเกิดเหตุขึ้น เราควรป้องกันไม่ให้สิ่งเหล่านี้ เกิดขึ้นอีกในอนาคต 

 

แล้วทำไม “ครู” คนหนึ่งเลือกจบชีวิตตัวเองลง ? งานครูมากมายขนาดนั้นเชียวหรือ ? วันนี้ “คมชัดลึกออนไลน์”  อาสาไขคำตอบ

 

มีครูท่านหนึ่ง บอกว่า โรงเรียนกำลังอยู่ในช่วงการประเมิน “โรงเรียนคุณธรรม” ซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียน รับนโยบาย มาจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และอยากจะเล่าให้ฟังว่า ระบบการศึกษาบ้านเราเป็นอย่างนี้

 

เริ่มต้นจะมีคนคิด โครงการหรือนโยบาย ต่าง ๆ มาให้ "โรงเรียน" ทำ ผู้อำนวยการโรงเรียนที่อยากทำผลงานก็เข้าร่วมด้วย สุดท้ายภาระงานต่าง ๆ ก็ลงมาที่ “ครู” เคยมีใครสงสัย ไหมว่า ทำไมเราต้องเป็นโรงเรียนต่าง ๆ ด้วย ไม่เป็นไม่ได้ หรืออย่างไร ยกตัวอย่างเช่น

 

  • โรงเรียนในฝัน
  • โรงเรียนมาตรฐานสากล
  • โรงเรียนวิถีพุทธ
  • โรงเรียนดีศรีตำบล
  • โรงเรียนจัดการศึกษาพิเศษเรียนร่วม
  • โรงเรียนแกนนำ
  • โรงเรียนเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลในสถานศึกษา
  • โรงเรียนสุจริต
  • โรงเรียนต้นแบบ
  • โรงเรียนนำร่องโครงการตามนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้
  • โรงเรียนประชารัฐ

ฯลฯ

ประเทศไทย มีโรงเรียนทุกแบบแต่ไม่เคยมี โรงเรียนที่ “ครู” ได้สอนเต็มเวลา

แต่ละหน่วยงาน ต่างกำหนด นโยบาย คิดโครงการ หรือมีข้อมูลอะไร จะสำรวจ จะขอความร่วมมือล้วนแล้วแต่ลงมาโรงเรียนทั้งหมด สำนักงานเขตพื้นที่ฯ ก็จะเอางาน “ผู้อำนวยการโรงเรียน” ก็อยากได้งาน เลยส่งผลกระทบต่อกันเป็นทอด ๆ สุดท้าย ก็ลงมาที่ “ครู” ที่ต้องเป็นผู้ปฎิบัติ

 

ไม่ใช่แค่ “นโยบาย” ต่าง ๆ ที่ “โรงเรียน” จะต้องเข้าร่วม ยังมี โครงการสารพัดประกวด ทั้งด้านวิชาการ ด้านนวัตกรรม  มีการประชัน การประเมินต่าง ๆ มากมายที่ให้โรงเรียนทำเพื่อรับรางวัล เกียรติบัตร หรือโล่ ต่างเป็นที่ต้องการของ “ผอ.โรงเรียน” เพื่อนำไปสู่การประเมินเลื่อนตำแหน่ง หรือความดี ความชอบทำให้ “ครู” ไม่ได้ทำหน้าที่สอนเพียงอย่างเดียว

 

ที่บอกว่า เป็น “ครู” แล้วสบาย คือ คน 2 ประเภท ประเภทแรก คือ ไม่ได้เป็นครู และประเภทที่ 2 คือ เป็นครูแต่ไม่สอนหนังสือ

 

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีงานอื่นๆ อีกมากมาย ในโรงเรียน ที่ "ครู" ต้องรับผิดชอบ เช่น

 

การเงินพัสดุ “ครู” ต้องขับรถไปธนาคารเพื่อเบิกเงินเอง ต้องทำเอกสารประมาณราคา ตรวจรับงานก่อสร้างอาคารเรียน เหล็กกี่เส้นกี่หุนต้องรู้ ไม่รู้ก็ต้องวิ่งหานายช่างมาอ่านแบบ

 

โครงการอาหารกลางวันนักเรียน ต้องทำ “อาหารกลางวัน” ใช้รถส่วนตัว ค่าน้ำมันครูต้องจ่าย ซื้อกับข้าว แช่ในตู้เย็นตัวเอง เตรียม หั่น ปรุง ล้าง 

 

ติดตามกระแสโซเชี่ยลเพิ่มเติม: https://www.facebook.com/komchadluek/

เหนืออื่นใดนโยบายต่างๆ จากกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ที่สั่งเพิ่มเติม แต่ไม่เคยสั่งยกเลิก เช่น "ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้"

 

ถ้าคิดว่า ที่กล่าวมา หมดหน้าที่ “ครู” แล้ว ก็ยังไม่หมด เพราะยังมีงานวันสำคัญอีกมากมายตลอดทั้งปีรวมถึง “ภาระงานอื่นที่ได้รับมอบหมาย”

 

สิ่งนี้ตรงกับชีวิตครูผู้ลาลับที่บอกว่า “ครูถูกมาใช้งานวันหยุด” ก็แน่นอนการที่จะเตรียมประเมินโรงเรียนต่าง ๆ ก็ต้องใช้แรงงานครูทั้งนั้น

 

ที่กล่าวมาทั้งหมด ทุกอย่าง ทุกโครงการ ทุกนโนยาย ถ้ามันดีจริง ทำไมโรงเรียนทั่วโลก เขาไม่เอาไปทำบ้าง

 

“หากระบบการศึกษาไทยยังเป็นแบบนี้ ต่อไปจะไม่มีคนรุ่นใหม่มาในระบบแล้ว เพราะตอนนี้แม้แต่คนที่อยู่ก็ยังลาออก และเลือกจบชีวิต เราไม่ควรจะสูญเสียใครไปอีก"

 

เมื่อก่อน เราเชื่อว่า การเป็นครูในไทยดีที่สุด แต่เมื่อมีคนมาเปิดโลกแล้วทำให้เห็นว่า สิ่งที่เราคิดเราฝัน เป็นเพียงแค่ภาพลวงตา มีการศึกษาประเทศอื่นที่เคารพและให้เกียรติครูมากกว่า วันที่ตายแล้ว ค่อยมีโฆษณามาเชิดชูเกียรติ

 

ได้โปรดเถอะตอนนี้ยังทัน ช่วย“ปฏิรูปการศึกษา”อย่างแท้จริงได้แล้ว ถึงเวลาหรือยังที่เราจะพูดถึง "ลดภาระงานครู" ที่ไม่เกี่ยวกับการสอนหนังสือเด็กอย่างจริงจังเสียที

 

ได้แต่คิดว่า จะมีอีกกี่คนที่เสียชีวิต หรือลาออก การศึกษาบ้านเรา มันก็ไม่เปลี่ยนแปลง

 

ฤาว่าคนที่รับผิดชอบและผู้ใหญ่ในวงการศึกษาเสวยสุขอยู่ในอำนาจ มักมองไม่เห็นความลำบากของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา หรือคนทำงาน จะพูดว่า “มันยังไม่ถึงเวลา”

 

ติดตามข่าวคมชัดลึกอื่นๆได้ที่ https://www.komchadluek.net/

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ