ข่าว

เปิดหน้าประวัติศาสตร์ ทำไมต้อง "สะพานท่าราบ"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดตำรา อ่านหน้าประวัติศาสตร์ รอยต่ออำนาจยุคคณะราษฎร ทำไมต้องสะพาน "ท่าราบ" ปูมหลังความขัดแย้ง หลวงพิบูลสงคราม กับ พระยาศรีสิทธิสงคราม

เรียกว่า ทำให้เกิดกระแสสนใจกันอย่างกว้างขวาง หลังมีการเปลี่ยนชื่อ สะพาน ที่ข้ามคลองเกียกกาย จาก "พิบูลสงคราม" เป็น "ท่าราบ" ซึ่งเป็นการกระทำของใคร ฝ่ายใด ยังไม่ทราบได้ ล่าสุด ทางกทม.ก็กลับมาเปลี่ยนเป็นชื่อเดิมแล้ว 

 

เปิดหน้าประวัติศาสตร์ ทำไมต้อง "สะพานท่าราบ"

 

แต่ทุกอย่างมันก็เปลี่ยนไป ตามการกระทำที่ทำให้ เปลี่ยนแปลง 

คำถามตัวโต ๆ คือ อะไร คือ ท่าราบ แล้วท่าราบ หมายความว่าอะไร 


ท่าราบ นั้น เป็นตำบลหนึ่ง ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งสถานที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรีคนปัจจุบัน เพราะว่าต้นตระกูล อันได้แก่ พระยาศรีสิทธิสงคราม  หรือ ดิ่น ท่าราบ เป็นคนพื้นเพที่ท่าราบ และเป็นบิดาของ นางอัมโภชน์ ท่าราบ ซึ่งเป็นมารดาของ พลเอกสุรยุทธ์

และเป็นบุคคลที่สร้างความหวาดหวั่น ให้ จอมพลแปลก จนต้องเร่งยึดอำนาจ จากพระยามโนปกรณนิติธาดา 

 

พระยาศรีสิทธิสงคราม ภาพจากวิกิพีเดีย

 

พระยาศรีสิทธิสงคราม หรือ ดิ่น ท่าราบ  เป็นเพื่อนร่วมเรียนกับ พี่ใหญ่ ของกลุ่มคณะราษฎร พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) และพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ในสมัยเรียนเตรียมนายร้อยเมืองพ็อทซ์ดัม และที่โรงเรียนนายร้อยปรัสเซีย กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี 

 

พระยาพหลพลพยุหเสนา ภาพจาก วิกิพีเดีย

 


เป็น สามทหารเสือ ตามที่พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอดิศรอุดมศักดิ์  เรียกขาน

และเป็นเหล่าทหารเสือ ที่จะขึ้นมานำกลุ่มนักเรียนนอก ทำการปฏิวัติในปี 24 มิ.ย. 2475


ยกเว้น ดิ่น ท่าราบ เขาตัดสินใจไม่เข้าร่วมคณะราษฏร ตามการตามจีบของ ประยูร ภมรมนตรี มือดีลของกลุ่ม ที่พยายามตื้อมาเป็นปี ๆ แต่ไม่สำเร็จ 

แต่รับปาก เพื่อน พจน์ กับ เทพ ไว้ว่า จะไม่แพ่งพรายเรื่องจะยึดอำนาจออกไป 

 

พระยาทรงสุรเดช ภาพจากวิกิพีเดีย

 

และจนคณะราษฎร ทำสำเร็จ เพื่อน พจน์ กับ เพื่อน เทพ ก็ยังตามตื้อ เพื่อนดิ่น ให้เข้าร่วมก๊ก แต่พระยาศรีสิทธิสงคราม นั้น ไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงที่คณะราษฎรก่อขึ้น จึงโดน เพื่อนเทพ ซึ่งได้เป็น พระยาทรงสรุเดช ในขณะนั้น สั่งย้ายเข้ากรุ ไปอยู่กระทรวงธรรมการ เพราะไม่พอใจอดีตเพื่อนรัก 

ต่อมา 2 เสือ พระยาพหลฯ กับ พระยาทรงฯ ทะเลาะกันจน ทำเนียบรัฐบาล วังปารุสกวัน แทบแตก  จนทำให้ พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) ลาออกจากตำแหน่ง  ทำให้พี่ใหญ่คณะราษฎร ก็ต้องหลุดจากอำนาจทหารไปด้วยตามมารยาท  


นั่นเองทำให้ พันโทหลวงพิบูลสงคราม เข้ามามีบทบาทในระดับนำมากขึ้น เพราะเมื่อมีการวางลงของตำแหน่ง  หลวงพิบูลสงคราม ได้ปรึกษากับ พระยามโนปกรณนิติธาดา ในการจัดตำแหน่งกองทัพใหม่

ตัวหลวงพิบูลสงคราม ขอเก้าอี้ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก จากนั้นให้ไปเชิญพลตรีพระยาพิไชยสงครามมาเป็นผู้บัญชาการทหารบก และเชิญพันเอกพระยาศรีสิทธิสงครามมาเป็นเจ้ากรมยุทธการทหารบก ซึ่งแนวทางนี้ พระยาพหลฯ ไฟเขียวให้ดำเนินการ 


เมื่อข้ามห้วยจากกระทรวงธรรมการ กลับกองทัพบก พระยาศรีสิทธิสงคราม ได้วางแผนที่จะโยกย้ายนายทหารสายคณะราษฎรออกจาก การมีอำนาจคุมกำลังพลออก แต่แผนการนี้ เกิดความแตกไปถึง พันโทแปลก ทำให้พระยาพหลฯ พันโทแปลก และหลวงศุภชลาศัย บุตรเขยในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ร่วมมือกันยึดอำนาจรัฐบาลพระยามโนปกรณนิติธาดา 


ส่วนสาเหตุที่ทำให้ต้องยึดอำนาจนั้น ในเบื้องหน้าอาจจะมองได้ว่า เป็นการทำเพื่อรักษาอำนาจคณะราษฎร แต่หลวงพิบูลสงคราม มีความเป็นไปได้ว่าทำไปเพราะกลัวมากกว่า เพราะได้บอกกับพันโทประยูรว่า "ประยูร จำเป็นต้องทำ ไม่มีทางเลี่ยง เพราะเจ้าคุณศรีสิทธิสงครามเล่นไม่ซื่อหักหลัง เตรียมสั่งย้ายนายทหารผู้กุมกำลังทั้งกองทัพ พวกก่อการจะถูกตัดตีนมือและถูกฆ่าตายในที่สุด"


ส่วนฝ่ายพระยาศรีสิทธิสงคราม ก็มีการกล่าวถึงในเวลานั้น ผ่านการบันทึกของ พันโทประยูร ว่า "ต่อมาอีก 2-3 วัน ท่านเจ้าคุณศรีสิทธิสงครามมาหาข้าพเจ้าที่บ้านบางซื่อ หน้าเหี้ยมเกรียม ตาแดงก่ำเป็นสายเลือด นั่งกัดกรามพูดว่าหลวงพิบูลสงครามเล่นสกปรก ท่านจะต้องกำจัด จะต้องฆ่าหลวงพิบูลสงคราม แต่จะต้องดูเหตุการณ์ไปก่อน ถ้าหลวงพิบูลล่วงเกินพระเจ้าแผ่นดินเมื่อใด ท่านเป็นลงมือเด็ดขาด..."

จนเรียกได้ว่า 2 คนนี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันแบบต้องเอาให้ตายกันไปข้างหนึ่ง 

จนในที่สุดศึกการต่อสู้ของ 2 ฝ่ายมาถึง พระองค์เจ้าบวรเดช นำคณะกู้บ้านเมือง หรือ กองทัพสีนำเงิน เข้าต่อสู้กลุ่มคณะราษฎร หลวงพิบูลสงคราม ได้รับแต่ตั้งเป็นผู้บัญชาการทหาร ขณะที่พระยาศรีสิทธิสงครามเข้าร่วมฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดช รับหน้าที่ แม่ทัพ กองระวังหลัง แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน ฝ่ายคณะกู้บ้านเมือง เพลี่ยงพล้ำ จนต้องพยายามถอยร่นกลับนครราชสีมา พระยาศรีสิทธิสงคราม ถูกยิงจนเสียชีวิต ใกล้กับ สถานีรถไฟหินลับ จังหวัดสระบุรี 


เมื่อเสียชีวิตแล้ว ร่างของพระยาศรีสิทธิสงคราม ถูกนำมาเผาอย่างเร่งด่วน ที่วัดมะกอก หรือ วัดอภัยทายาราม ใกล้กับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิปัจจุบัน แต่กว่าครอบครัวจะได้รับอัฐิคืนไป ก็กินเวลาวกว่า 4 ปี และครอบครัวของพระยาศรีสิทธิสงคราม ก็ได้รับผลกระทบจากการคุกคามตลอดการมีอำนาจของ จอมพลแปลก จนถึงสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 


แม้กระทั่ง พระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสามทหารเสือ ยังถูก จอมพลแปลก เล่นงาน จนเป็นเรื่องราวของ กบฏพระยาทรงสรุเดช ในเวลาต่อมา 

จึงไม่น่าแปลกใจ ที่ คำว่า ท่าราบ จึงตามหลอกหลอน พิบูลสงคราม แม้จะในเชิงสัญลักษณ์ ตีวัวกระทบคราด ก็ตาม 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ