ข่าว

อนุรักษ์ "ทุเรียน" พื้นบ้าน 200 ปี เปิดให้นักชิมเข้าไปกินถึงสวนได้แล้ว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผลผลิตในสวนเห็นกันมาตั้งแต่เด็กๆ คาดอายุของต้นทุเรียนที่มากสุดในสวนนี้คือ 206 ปี เมื่อเห็นลูกหลานหรือนักท่องเที่ยว เดินทางเข้ามาเที่ยวถึงสวน มาชิมผลไม้ ก็มีความสุขแล้ว

วันที่ 26 มิ.ย.65 เรื่องราวทุเรียนมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดผู้สื่อข่าวจังหวัดสตูลแนะนำ สวนทุเรียนพื้นเมือง 200 ปี ซึ่งเป็นสวนของนายเหลด บ่ายศรี อายุ 68 ปี ชาวบ้าน ม.4 ต.ท่าแพ อ.ท่าแพ จ.สตูล โดยมีพื้นที่ปลูก 11 ไร่ ซึ่งเป็นสวนผลไม้ผสมผสาน ทั้งทุเรียน ลองกอง จำปาดะ เงาะ แต่เท่าที่เห็นสวนแห่งนี้ น่าจะเน้นปลูกทุเรียนมากที่สุด 

 

โดยเฉพาะทุเรียนพื้นเมือง มีอยู่ 36 ต้น อายุตั้งแต่ 105-206 ปี ทุเรียนพื้นเมืองขึ้นชื่อ และเป็นซิกเนเจอร์ของสวนนี้ คือ นมสวรรค์ และ หลุมพี ที่มีรสชาติหวานมัน กลิ่นหอมเนื้อขาว เนื้อเยอะเป็นเอกลักษณ์ของทุเรียนพื้นเมือง 

 

 

อนุรักษ์ "ทุเรียน" พื้นบ้าน 200 ปี เปิดให้นักชิมเข้าไปกินถึงสวนได้แล้ว

 

นายเหลด บ่ายศรี เจ้าของสวน กล่าวว่า สวนทุเรียนแห่งนี้ตนเองเข้ามาดูแลเป็นรุ่นที่ 3 ส่วนรุ่นที่ 2 นั้น เจ้าของสวนอายุ 105 ปี ผลผลิตในสวนเห็นกันมาตั้งแต่เด็กๆ คาดอายุของต้นทุเรียนที่มากสุดในสวนนี้คือ 206 ปี เมื่อถึงรุ่นของตนเองก็เน้นสานต่อ ไม่คิดจะค้ากำไรจากการขายทุเรียนพื้นเมือง คิดแต่เพียงสานต่อในสิ่งที่บรรพบุรุษมอบให้

 

อย่างไรก็ตามในจำนวนนี้ก็มีต้นทุเรียนพื้นบ้านที่ตายไปบ้าง ก็ได้ปลูกทุเรียนหมอนทองเข้ามาทดแทน ส่วนทุเรียนพื้นเมืองทางเกษตรอำเภอท่าแพ ได้มาคัดเลือกสายพันธุ์ทุเรียนที่เป็นอัตลักษณ์ รสชาติดี เพื่อพัฒนาสายพันธุ์ เช่น พันธุ์หลุมพี และนมสวรรค์ ที่กำลังได้รับความนิยม  

 

อนุรักษ์ "ทุเรียน" พื้นบ้าน 200 ปี เปิดให้นักชิมเข้าไปกินถึงสวนได้แล้ว


 

อนุรักษ์ "ทุเรียน" พื้นบ้าน 200 ปี เปิดให้นักชิมเข้าไปกินถึงสวนได้แล้ว

 

สำหรับราคานั้นตั้งแต่ปี 60 เป็นต้นมา ทุเรียนพื้นเมือง มีราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 50 บาท เพราะได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น เป็นทุเรียนปลอดสาร ประกอบกับพื้นที่ปลูกอยู่ติดริมคลองที่มีธาตุอาหารต่างๆ จึงทำให้ทุเรียนมีรสชาติดี ทั้งนี้เมื่อเห็นลูกหลานหรือนักท่องเที่ยว เดินทางเข้ามาเที่ยวถึงสวน มาชิมผลไม้ ตนเองก็มีความสุขแล้ว เพราะอยากให้ทุกคนได้มาท่องเที่ยวสวนเกษตร แกะกินทุเรียนใต้ต้น พร้อม ๆ กับเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับทุเรียนโบราณไปในตัวด้วย 

 

ซึ่งทุเรียนแต่ละสายพันธุ์ มีการตั้งชื่อจากรูปลักษณ์ ซึ่งบรรพบุรุษได้ตั้งชื่อไว้ก่อนแล้ว เช่น หัวล้าน ซึ่งมีลักษณะลูกกลม หนามสั้น ,ทุ่งแหลก เปลือกหนาแกะยาก แต่เนื้อเยอะรสชาติอร่อย นอกจากนี้ยังมีสายพันธุ์ มะลิทอง,เขียวกำนัน, ขี้โดก ,แม่ม่ายนั่งยิ้ม เป็นต้น 

 

ทุเรียนพื้นเมือง หรือพื้นบ้าน แต่ละต้นจะให้ผลผลิตมากกว่า 100 ลูก แต่ละลูกอยู่ที่ 0.5-2 กิโลกรัม สำหรับใครที่สนใจ อยากชิมทุเรียนพื้นบ้าน กินถึงในสวน หรือจะซื้อจากทางสวนกลับบ้าน สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลข 091-169-5082

 

อนุรักษ์ "ทุเรียน" พื้นบ้าน 200 ปี เปิดให้นักชิมเข้าไปกินถึงสวนได้แล้ว

 

คอดีเย๊าะ เงินเจริญ ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.สตูล 

 


 

logoline