ข่าว

3 ประสาน ขับเคลื่อน "ภาคการเกษตรเชิงพื้นที่"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 สงขลา ประชุม เครือข่ายคณะกรรมการ ศพก. แปลงใหญ่ และ Young smart farmer ระดับเขต ชู 3 ประสาน ขับเคลื่อน "ภาคการเกษตรเชิงพื้นที่"

นายอนุชา ยาอีด ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.)และ "เกษตรแปลงใหญ่" ถือเป็นกลไกสำคัญในการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดระยะเวลา 6-7 ปี ที่มีการดำเนินงานมาได้เกิดผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจในทุกมิติและมีแนวโน้มการพัฒนาของเกษตรกรที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีการเชื่อมโยงการทำงานกับเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer : YSF) ในการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

     ผอ. สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5

 

โดย ศพก.เป็นแหล่งเรียนรู้การผลิต "สินค้าเกษตร" ที่ถูกต้องและเหมาะสม เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนความรู้ข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาด้านการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถการขยายผลองค์ความรู้ นวัตกรรม และผลงาน
วิจัยไปสู่เกษตรกรแปลงใหญ่ได้

      ขับเคลื่อนภาคการเกษตรเชิงพื้นที่

 

ในส่วนภาคใต้มี ศพก.หลัก จำนวน 151 ศพก. และ ศพก.เครือข่าย จำนวน 2,176 แห่ง มีแปลงใหญ่ที่ได้รับการรับรองแล้วจำนวน 1,209 แปลง รวมพื้นที่ 680,799 ไร่ เกษตรกร 64,661 ราย และมีเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ได้รับการพัฒนาเป็น "Young Smart Farmer" แล้ว จำนวน 3,421 คน ขับเคลื่อนโดยศูนย์บ่มเพาะเกษตรเกษตรกรุ่นใหม่ (ศบพ.) ศูนย์หลักจำนวน 14 ศูนย์และศูนย์เครือข่ายจำนวน 118 ศูนย์ ซึ่งทั้ง 3 เครือข่ายได้ร่วมกันขับเคลื่อนการเกษตรของภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง

 

นายอนุชา  กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลากำหนดจัดประชุมเครือข่ายคณะกรรมการ ศพก. แปลงใหญ่ และ Young smart farmer ระดับเขต ปีละ 4 ครั้ง โดยครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งที่ 3 ประจำปี 2565 จัดขึ้นระหว่าง 23-24 มิ.ย. 65 ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอำเภอเชียรใหญ่และแปลงใหญ่ส้มโอตำบลคลองน้อย อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ประเด็นสำคัญในการประชุมครั้งนี้ คือ การร่วมมือกันการขับเคลื่อนภาคการเกษตรของภาคใต้

 

เริ่มตั้งแต่ ศพก. ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ ฐานเรียนรู้ต่าง ๆ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ขับเคลื่อนให้นำเทคโนโลยี นวัตกรรมและผลงานวิจัยโดยเฉพาะจากศูนย์ AIC ที่มีอยู่ทุกจังหวัด ศูนย์ AIC เน้นส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตร สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมรูปแบบต่าง ๆ ผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาท้องถิ่นและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน

 

โดยจะรวบรวมช่างเกษตร ปราชญ์เกษตร ซึ่งเป็นเกษตรกรต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีภูมิปัญญาท้องถิ่นและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เน้นการบริหารจัดการในพื้นที่แปลงใหญ่ ดึง Smart Farmer และ Young Smart Farmer เข้าร่วมทั้งที่เป็นวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มสหกรณ์ เสริมสร้างองค์ความรู้ทางด้าน e-commerce  การสร้าง Story ของสินค้า Packaging 

 

รวมถึงมาตรการ กฎระเบียบการรับรองต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง "ด้านการเกษตร" เพื่อให้เกษตรกรก้าวเข้าสู่ยุคเกษตร 4.0 อย่างครบวงจร มีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็ง มีองค์ความรู้ มีเครือข่ายข่ายที่ดี พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตให้มั่นคงและยั่งยืนสืบไป

 

นอกจากนี้สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จ.สงขลา ได้ทำ MOU ร่วมกับมหาวิทยาลัย และหน่วยงานวิชาการต่าง ๆ เพื่อนำองค์ความรู้ผลวิจัยมาขยายสู่เกษตรกรผ่าน ศพก.เป็นแหล่งเรียนรู้ เมื่อมีความเหมาะสมกับพื้นที่ก็ขยายไปสู่เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่ นำเกษตรอัจฉริยะมาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ตลอดจนแนวทางการดำเนินงาน BCG Model ในการขับเคลื่อน ศพก. สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน 

 

ภาคใต้เองมีพืชหลากหลายทั้งยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าว ไม้ผล พืชผัก ตลอดจนกิจกรรมด้านประมง ปศุสัตว์ การทำเกษตรแบบผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ การผลิตขยายพันธุ์แหนแดงเพื่อลดต้นทุนการผลิตและเป็นฐานเรียนรู้ใน ศพก. การพัฒนา ศพก. เป็น "แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร" การผลิตสื่อองค์ความรู้ของ ศพก. และการส่งเสริมการผลิตพืชปลอดภัยได้มาตรฐานของสินค้า ศพก. และแปลงใหญ่ อีกทั้ง ศพก.ยังเป็นแหล่งให้ความรู้และฝึกอาชีพให้เกษตรกรในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 เพื่อสร้างรายได้และมีอาหารบริโภคในครัวเรือน

 

นอกจากนี้มีการสรุปผลดำเนินงานโครงการยกระดับเกษตรแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ซึ่งเป็นโครงการสำคัญตามแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของไวรัสโควิด 19 มีแปลงใหญ่ด้านพืชเข้าร่วมโครงการในระยะที่ 1 จำนวน 123 แปลง ดำเนินการเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วอยู่ในระหว่างการแนะนำและตรวจบัญชี โดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และการประชาสัมพันธ์โครงการส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ การประกวดแปลงใหญ่ ปี2565

 

ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกจะลงพื้นที่เก็บข้อมูลในระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน- 1 ก.ค. 2565 และกิจกรรมของเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และโมเดลการทำงานร่วมกัน 3 เครือข่ายมีการจัดทำฐานข้อมูล "ด้านการเกษตร" และนำไปใช้ประโยชน์

 

นอกจากนี้ประเด็นสำคัญอีกประการก็คือ การเตรียมเลือกตั้งคณะกรรมการฯ ศพก.และแปลงใหญ่ในระดับต่าง ๆ ซึ่งจะหมดวาระลงในวันที่ 18 ตุลาคม 2565 โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้เสนอขอแก้ไขระเบียบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่าด้วยการบริหารงานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2565

 

โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ (1) ปรับปรุงบทบาทหน้าที่ในการขับเคลื่อนนโยบายจากคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคการเกษตรระดับจังหวัด แก้ไขเป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนงานด้านการเกษตรระดับจังหวัด/ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร

 

(2) การเพิ่มบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการ ศพก.ทุกระดับในการเชื่อมโยงการดำเนินงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและติดตามประเมินผล

 

และ(3) ปรับปรุงวาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการ ศพก.ทุกระดับ จากเดิมครั้งละ 2 ปี เป็น 4 ปี และเมื่อพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับการแต่งตั้งได้อีก ไม่จำกัดวาระ

 

ดังนั้น จนท.และเกษตรกรต้องปรับเปลี่ยนแนวคิด วิธีการทำงานให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่และทันต่อบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งแนวทางในการขับเคลื่อนภาคเกษตรภายใต้หลักตลาดนำการผลิต จะให้ความสำคัญตั้งแต่การวิเคราะห์ความต้องการของตลาด ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ เพื่อเชื่อมโยงกับการวางแผนการผลิต และนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

 

การจัดการผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด มีการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร การตรวจสอบย้อนกลับ ตลอดจนส่งเสริมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมแก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร นายอนุชา กล่าวทิ้งท้าย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ