ข่าว

จับตา "คาร์บอน เครดิต" สร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้ชาวสวนยางยุคดิจิทัล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เกษตรกรชาวสวนยางจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขาย "คาร์บอน เครดิต" (Carbon Credit) ช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชน ส่งเสริมให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

เป็นที่ทราบกันดีว่า "ก๊าซเรือนกระจก" สำคัญต่อการรักษาระดับอุณหภูมิโลก หากมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกมากเกินไปจะทำให้อุณหภูมิโลกสูงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้น้ำแข็งละลาย ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ความกดอากาศแปรปรวน ก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น ภัยแล้ง น้ำท่วม แผ่นดินไหวที่รุนแรง

 

ก๊าซที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกคือคาร์บอนหรือคาร์บอนไดออกไซด์ (C02) ดังนั้นการลด "คาร์บอน" จึงมีส่วนสำคัญในการลดก๊าซเรือนกระจก

 

หลังจากนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ประกาศที่จะเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนมาตรการ "Zero Carbon" ในภาคการเกษตร พร้อมตั้งเป้าที่จะพัฒนาสวนยางพาราให้เป็นสวนยาง Carbon Negative ให้ได้ 10 ล้านไร่ภายในปี 2573

 

และในปี 2593 สวนยางที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท. ที่มีอยู่ประมาณ 20 ล้านไร่ จะเป็นสวนยาง Carbon Negative ทั้งหมด ซึ่งจะทำให้เกษตรกรชาวสวนยางได้รับประโยชน์จาก "คาร์บอน เครดิต" ( Carbon Credit)

 

แม้ในปัจจุบัน "Carbon Credit" อาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับเกษตรกรชาวสวนยาง แต่ในอนาคต Carbon Credit จะสร้างโอกาสและรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยางอย่างมั่นคงยั่งยืนแน่นอน 

Carbon Credit, Zero Carbon, Carbon Negative และCarbon Neutrality  เกี่ยวข้องกันอย่างไร

 

"Carbon Credit" คือ การนำปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ต่ำกว่าเป้าหมายของหน่วยงานมาเข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกและขึ้นทะเบียนให้สามารถซื้อ-ขายได้ เปรียบเหมือนเป็นสินค้าประเภทหนึ่งเพื่อขายให้กับประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศอุดสาหกรรม หรือแม้แต่เอกชนบางราย โดยหน่วยงานเหล่านี้จะซื้อ "Carbon Credit" ไปสำหรับการขยายขอบเขตในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง

ขับเคลื่อนมาตรการ Zero Carbon ในสวนยางพารา

 

Carbon Neutrality ความเป็นกลางทางคาร์บอนหมายถึงการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกดูดกลับหรือเรียกว่าสถานะของการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ หรือ "Zero Carbon" 

 

จากการวิเคราะห์เบื้องต้นคาดว่า สวนยางนอกจากจะเป็น Carbon Neutrality หรือปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์แล้ว ยังจะสามารถกักเก็บคาร์บอนได้อีกด้วย ดังนั้นสวนยางพาราจึงมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยกว่าศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนหรือเรียกว่า คาร์บอนติดลบ หรือ Carbon Negative  ซึ่งการกักเก็บคาร์บอนของสวนยางดังกล่าวสามารถสร้างเป็น "Carbon Credit" นำมาซื้อ-ขาย เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่ง โดยภายในปี 2565 กยท. จะทำสวนยางต้นแบบ เพื่อนำไปขยายผลให้ได้ตามเป้าหมาย

ผู้ว่าการ กยท.

 

ผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า "Carbon Credit" จะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการส่งออกสินค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป(อียู) ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ อียูได้เคาะมาตรการ CBAM เพื่อเก็บภาษีเพิ่มสำหรับสินค้านำเข้าที่ไม่มีการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต หากประเทศไทยไม่ดำเนินการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว อาจกระทบต่อสินค้าส่งออกของไทยซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 952 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) เป็นมาตรการจัดเก็บภาษีก๊าซเรือนกระจกก่อนข้ามพรมแดนสำหรับสิบค้านำเข้า เริ่มเสนอเข้าสู่สภายุโรปตั้งแต่ปี 2021เป็นมาตรการต่อเนื่องจากมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในอียูที่เริ่มเมื่อปี 2005

 

ในครั้งนั้น อียู มีการกำหนดเกณฑ์ว่าแต่ละธุรกิจจะสามารถปล่อยคาร์บอน (Carbon Footprint)สูงสุดได้เท่าไหร่และหากปล่อยเกินเกณฑ์ก็ต้องไปซื้อสิทธิการปล่อยคาร์บอนเพิ่มจากธุรกิจอื่นตามนโยบายที่เรียกว่า Emission Trading Scheme(ETS) การออกมาตรการเช่นนี้เพื่อกดดันให้ธุรกิจเร่งปรับเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มิฉะนั้นจะถูกเก็บภาษีก๊าซเรือนกระจกซึ่งจะทำให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้น

 

ทั้งนี้ในอนาคตจะมีการอนุญาตให้ผู้ซื้อสามารถนำ "Carbon Credit" ที่ซื้อมาหักล้างกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ตนปล่อยออกไปเพื่อทำให้โดยรวมแล้วระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่เกินที่กฎหมายกำหนดไว้

 

ปัจจุบันประเทศไทยได้เตรียมการดำเนินโครงการแลกเปลี่ยน คาร์บอนเครดิต ซื้อ-ขายคาร์บอน เพื่อนำไปใช้ในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ดังนั้นเกษตรกรชาวสวนยางก็จะสามารถขาย Carbon Credit ได้เพราะสวนยางพารานั้นมีความคล้ายคลึงป่าไม้ที่เป็นแหล่งดูดชับคาร์บอนตามธรรมชาติ ด้วยกระบวนการสังคราะห์แสงที่ใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่จะต้องเป็นสวนยาง Carbon Negative ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่ากว่าดูดกลับเท่านั้น
 

การขับเคลื่อนมาตรการ Zero Carbon ในสวนยางพารา กยท.ได้รับความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) หน่วยงานภาคการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล รวมไปถึงสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและผู้ประกอบการที่ส่งออกทางเรือ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาพิชย์ ที่จะใช้เป็นกลไกสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศทั้งนี้ กยท. พร้อมจะขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเต็มที่ เราจะต้องร่วมกันสร้างความยั่งยืนเพื่ออนาคตของเรา นายณกรณ์ กล่าวย้ำ

 

ผู้ว่าการ กยท.มั่นใจว่า การพัฒนาสวนยางให้เป็นสวนยาง Carbon Negative นั้นมีความเป็นไปได้สูง เพราะในปัจจุบัน กยท. ผลักดันและส่งเสริมเกษตรกรปรับปรุงสวนยางให้ได้มาตรฐานการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืน หรือมาตรฐาน มอก.14061 เป็นมาตรฐานประเทศไทยที่ให้มีการปรับเกณฑ์รายละเอียดให้ตรงตามมาตรฐานสากล ครอบคลุมการดูแลและจัดการเพื่อรักษาและส่งเสริมสภาพความสมบูรณ์ของสวนป่าไม้เศรษฐกิจในระยะยาว การปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระหว่างประเทศ  

 

โดยมาตรฐานนี้กำหนดให้มีการป้องกันสวนป่าจากการทำผิดกฎหมายต่าง ๆ เช่น การลักลอบตัดต้นไม้ การเผาป่า การใช้ที่ดินอย่างผิดกฎหมาย ควบคู่กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและอำนวยประโยชน์แก่ชุมชนในพื้นที่

 

โดยตั้งเป้าว่า สวนยางในไทยทุกสวนที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท.ประมาณ 20 ล้านไร่จะต้องได้ตามมาตรฐาน มอก.14061 ให้ได้ภายใน 6 ปี ซึ่ง กยท. จะดำเนินการคู่ขนานกับมาตรฐานสากล FSC (Forest Stewardship Council)เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าน้ำยางในตลาดโลกที่จะต้องดำเนินกิจกรรมให้สอดคล้องเกื้อหนุนกับสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ เช่นจะต้องไม่ละเมิดกฎหมาย การถือครองที่ดินต้องถูกกฎหมาย ไม่อยู่ในเขตป่าสงวน หรือที่ดินสาธารณะอื่น ๆ และต้องรักษาสมดุลระบบนิเวศไม่กดขี่แรงงาน เป็นต้น          

 

กยท. มีนโยบายที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาสวนยางให้ได้มาตรฐานอยู่แล้ว ดังนั้นการที่พัฒนาต่อยอดให้เป็นสวนยาง Carbon Negative ด้วยจึงไม่ยากเกินไปซึ่งการดำเนินมาตรการ Zero Carbon ในสวนยางพารานั้นจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

 

เพราะนอกจากช่วยลดมลพิษด้านสิ่งแวดล้อมแล้วและยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมของประเทศ รวมทั้งยังจะทำให้เกษตรกรชาวสวนยางจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขาย "Carbon Credit" ช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชน ส่งเสริมให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อันจะไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป ผู้ว่าการ กยท. กล่าว

 

ปัจจุบันมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกประมาณ 50,000 ล้านตันต่อปี โดยประเทศจีนปล่อยมากที่สุดเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือ สหรัฐอมริกา และญี่ปุ่น ส่วนไทยอยู่อันดับที่ 20 ปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 365 ตันต่อปี แต่ประเทศไทยมีป่าไม้ช่วยกักเก็บก๊าซเรือนกระจก (CO2) ได้ถึง 91 ล้านตันต่อปีและถ้าหากสวนยางพาราทั่วประเทศไทยประมาณ 20 ล้านไร่ เป็นสวนยาง Carbon Negative หรือ Zero Carbon ทั้งหมดจะสามารถกักเก็บก๊าซเรือนกระจกได้อีกไม่น้อยกว่า10 ล้านตันต่อปีสร้างมูลค่าจากการขาย Carbon Credit มหาศาลแน่นอน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ