ข่าว

แจงวิธี "เรียกเงินคืน" เรียกค่าเสียหายจาก "บุฟเฟ่ต์" ญี่ปุ่นชื่อดัง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อัยการธนกฤต แจงกฎหมายวิธีได้รับเงินคืน และเรียกค่าเสียหายจาก "บุฟเฟ่ต์" ญี่ปุ่นชื่อดัง เเนะผู้เสียหายแจ้งความ เก็บหลักฐานให้ครบถ้วน ไว้ใช้เรียกเงินคืนและค่าเสียหาย หลังอัยการยื่นฟ้องฉ้อโกงประชาชนเล้ว

    

ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการในหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุดได้ให้ความเห็นข้อกฎหมายผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว กรณีการเรียกร้องเงินและค่าเสียหายกรณี "บุฟเฟ่ต์" ดารุมะ 

 

การเรียกร้องเงินคืนและเรียกค่าเสียหายจากร้าน "ดารุมะ ซูชิ" ที่เป็นร้าน "บุฟเฟ่ต์ อาหารญี่ปุ่น ปิดกิจการนั้น ผู้เสียหายซึ่งอาจจะเป็นผู้ซื้อเวาเชอร์หรือคูปองบุฟเฟต์ของร้านหรือผู้ซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ของร้าน อาจดำเนินการโดยผ่านกระบวนการทางกฎหมายดังนี้

คดีร้าน "ดารุมะ ซูชิ" นี้ เป็นการกระทำความผิดที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับคดีแหลมเกตซีฟู้ด ซึ่งศาลตัดสินไปแล้วเมื่อปี 2562 ว่า มีความผิดฐานหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนหรือฉ้อโกงประชาชน และความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550

 

กรณีของ ร้านดารุมะ นี้ หลังจากผู้เสียหายแจ้งความและพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน และส่งสำนวนการสอบสวนไปยังอัยการเพื่อพิจารณาสั่งฟ้องผู้กระทำผิดแล้ว ในชั้นฟ้องคดีของอัยการ ถ้าหากอัยการฟ้องผู้กระทำผิดเป็นจำเลยต่อศาลในข้อหาฉ้อโกงประชาชน อัยการก็จะเรียกร้องเงินที่ผู้เสียหายถูกฉ้อโกงไปคืนจากจำเลยแทนผู้เสียหายด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.) มาตรา 43

แต่การเรียกร้องเงินแทนผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 โดยอัยการนี้ มีขอบเขตตามกฎหมายเฉพาะเงินหรือทรัพย์สินที่ถูกฉ้อโกงไปเท่านั้น ยังไม่รวมถึงค่าเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการถูกฉ้อโกงด้วย

 

ทั้งนี้ หากผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายจากถูกฉ้อโกงในกรณี ร้าน "ดารุมะ" นี้ ประสงค์จะเรียกค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยเพิ่มเติมไปจากเงินที่ถูกฉ้อโกงไป ก็มีช่องทางตามกฎหมายกระทำได้ ด้วยการที่ผู้เสียหาย ไปยื่นคำร้องต่อศาลที่อัยการฟ้องผู้กระทำผิดเป็นจำเลยก่อนที่จะเริ่มสืบพยาน เพื่อขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายให้แก่ตนเอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 โดยหากคดีนี้มีผู้เสียหายที่ประสงค์จะเรียกร้องค่าเสียหายเป็นจำนวนมาก บรรดาผู้เสียหายเหล่านั้นก็อาจมอบอำนาจให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจในการยื่นคำร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนแทนตนได้

 

ในระหว่างนี้ สิ่งที่ผู้เสียหายสามารถกระทำได้ คือ ควรเก็บหลักฐานและพยานต่างๆที่สามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด และไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อรองรับสิทธิในการได้รับชดใช้เงินคืน รวมทั้งสิทธิในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน  ในฐานะที่เป็นผู้เสียหาย ถ้าหากต่อไปภายหน้าสามารถจับกุมตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายและมีการฟ้องผู้กระทำผิดเป็นจำเลยต่อศาลต่อไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ