ข่าว

ประธาน "วุฒิสภา" ยัน ตั้ง "ผู้ช่วยส.ว." ไม่ขัดจริยธรรม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตั้ง "ผู้ช่วยส.ว." ดำเนินการตามกฎหมายมาตั้งแต่ สนช. ประธาน "วุฒิสภา" ยืนยัน ไม่มีส่วนไหนที่ขัดจริยธรรมนักการเมือง

 

ประธาน "วุฒิสภา" ยัน ตั้ง "ผู้ช่วยส.ว." ไม่ขัดจริยธรรม

 

พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่ามีสมาชิกวุฒิสภาจำนวนหลายสิบคนแต่งตั้งเครือญาตตนเองเป็นผู้ช่วย ส.ว.เพื่อรับเงินเดือน ว่า เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งตามระเบียบมีตำแหน่งผู้ช่วยประจำตัว สนช. ได้ 8 ตำแหน่ง แต่ตอนนั้นตนมองว่ามากไปจึงขอให้ตัดเหลือเพียง 5 ตำแหน่ง แต่มาในสมัยวุฒิสภาชุดปัจจุบัน หน่วยงานที่รับผิดชอบก็ดำเนินการตามระเบียบคือให้ ส.ว.มีผู้ช่วยดำเนินงานจำนวน 8 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่เทียบเท่ากับผู้ช่วย ส.ส.ที่มี 8 คนเช่นกัน

 

ประธานวุฒิสภาระบุว่า เท่าที่ทราบ ส.ว. หลายคนไม่ได้แต่งตั้งผู้ช่วยดำเนินงาน เช่น ส.ว.สัดส่วนที่มาจากเหล่าทัพ และเคยได้รับการอธิบายเรื่องนี้มาตั้งแต่สมัยยังไม่มาทำงานในสภาว่าบางตำแหน่งจำเป็นที่จะต้องแต่งตั้งบุคคลที่ไว้ใจเข้ามาทำงาน จึงจำเป็นที่จะต้องแต่งตั้งเครือญาตขึ้นมาดำรงตำแหน่งดังกล่าว และกรณีนี้ก็มีเกิดขึ้นทั้งในส่วนของ ส.ว. และ ส.ส. ที่มีความคิดและประสงค์จะใช้คนที่เขาไว้ใจ

ส่วนที่จะมีการยื่นขอให้คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวช เป็นประธาน ดำเนินการตรวจสอบว่าเป็นการกระทำที่ผิดต่อจริยธรรมหรือไม่นั้น นายพรเพชร กล่าวว่า ในเมื่อไม่ผิดต่อกฎหมาย จะเป็นการผิดจริยธรรมได้อย่างไร เพราะเรื่องนี้มีกฎหมาย มีระเบียบมานานแล้ว อีกทั้งทางวุฒิสภาก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอัตราผู้ช่วยดำเนินการแต่อย่างใด

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ยื่นขอข้อมูลได้ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 เพื่อขอข้อมูลรายชื่อผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และผู้ช่วยดำเนินงานประจำตัวของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทุกคนจากสำนักเลขาธิการวุฒิสภาคำตอบของสำนักเลขาธิการวุฒิสภาเมื่อ 13 มิถุนายน 2565 คือ “ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่อาจเปิดเผยได้” พร้อมทั้งระบุว่าสามารถอุทธรณ์คำสั่งไม่เปิดเผยดังกล่าวต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารได้ภายใน 15 วัน

iLaw จึงเตรียมดำเนินการอุทธรณ์คำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูล เนื่องจากเห็นว่าข้อมูลดังกล่าวเกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ ที่ทางสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาสามารถเก็บรวบรวมและเปิดเผยได้ เพราะตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับ ส.ว. เป็นตำแหน่งทางการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนจากเงินงบประมาณของประเทศ ดังนั้น สาธารณชนย่อมมีสิทธิที่จะรับรู้ถึงการแต่งตั้งบุคคลเหล่านั้น อีกทั้งลำพังเพียงรายชื่อและตำแหน่งของคณะทำงาน ส.ว.  หรือ ผู้ช่วยส.ว. ก็เป็นข้อมูลที่พึงรับรู้ได้ ไม่ใช่ข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหวแต่อย่างใด

 

ติดตามทุกความทุกข่าวสารจากคมชัดลึกได้ที่ 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ