
ชำแหละ 3 กิจกรรม "การกุศล" ยอดนิยม ทำรายได้หลักล้าน 99% ผิดกฎหมาย
3 กิจกรรม "การกุศล" ยอดนิยม "ประกวดพระ - โบว์ลิ่ง - ตีกอล์ฟ" ดร.มานะ ชำแหละ เปิดข้อมูล ทำรายได้หลักล้าน แต่ 99% ผิดกฎหมาย
ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์เฟซบุค ชำแหละ 3 กิจกรรม "การกุศล" ที่สร้างรายได้ยอดนิยม แต่ 99% ผิดกฎหมาย โดยระบุข้อมูลว่า "ตีกอล์ฟ ประกวดพระ โยนโบว์ลิ่ง" 3 กิจกรรมหารายได้ยอดนิยม เพราะทำเงินง่ายเป็นกอบเป็นกำ ยิ่งถ้าจัดโดยกลุ่มคนมีสี มียศมีตำแหน่ง หรือหน่วยราชการที่มีอำนาจให้คุณให้โทษแก่พ่อค้า รายได้จะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว
ดร.มานะ ระบุว่า แม้จะบอกว่า เป็นงาน "การกุศล" แต่เกือบทั้งหมดที่จัดกันนั้น ผิดกฎหมาย แถมยังเป็นที่ครหาว่า เป็นวิธีติดสินบนที่ถูกกฎหมาย เพราะทำให้เกิดบุญคุณระหว่างคนจัดงานกับคนจ่ายเงิน ปูทางเพื่อการวิ่งเต้นเส้นสาย และการเอาอกเอาใจเจ้านาย เพื่อการโยกย้ายตำแหน่งของเจ้าหน้าที่
ชำแหละรายได้จาก 3 กิจกรรม "การกุศล"
- ผู้จัดโบว์ลิ่ง จะทำรายได้ 3 - 7 แสนบาท
- การประกวดพระ ทำรายได้ 3 - 6 ล้านบาท
- กอล์ฟการกุศล จะมีรายได้ราว 2 - 8 ล้านบาท
สถิติสูงสุดที่ทราบคือ 25 ล้านบาท จัดโดยกรมจัดเก็บภาษีแห่งหนึ่ง รายได้หลักจะมาจากสปอนเซอร์ของภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจ ส่วนลดค่าสถานที่จัดงาน รายได้จากการขายบัตรเข้าร่วมงานจะมีราคาแตกต่างกันไป เช่นโบว์ลิ่ง ทีมละ 4,000 บาท ทีมกิตติมศักดิ์ 10,000 บาท การแข่งขันกอล์ฟ ทีมละ 30,000 - 50,000 บาท ทีมกิตติมศักดิ์ 50,000 - 100,000 บาท การประกวดพระ มีรายได้จากการรับดูพระ องค์ละ 300 - 500 บาท ค่าบัตรเข้าชมงาน เปิดประมูลพระและค่าเช่าแผงขายของ
ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ. ควบคุมการเรี่ยไร พุทธศักราช 2487 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการเรี่ยไร กำหนดให้ทุกการเรี่ยไร ต้องขออนุญาตก่อน หากเป็นหน่วยงานของรัฐจะทำการเรี่ยไร หรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไร หรือการรับบริจาค ก็ต้องขออนุญาตเช่นกัน เว้นแต่เพื่อกฐินพระราชทาน หรือกิจกรรมที่เป็นนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลัง เรื่องการรับเงินหรือทรัพย์สิน ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ป.ป.ช. เรื่องการรับทรัพย์สินฯ เกินกว่า 3 พันบาท และการเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน เมื่อเสร็จงานแล้วยังต้องยื่นรายงานต่อ สตง. และต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีรายได้ตามเกณฑ์
ดร.มานะ ระบุว่า ทราบกันดีว่า ทุกวันนี้แทบทั้งหมดของ 3 กิจกรรม "การกุศล" ยอดนิยม ไม่มีใครปฏิบัติตามกฎหมายที่กล่าวมา ซึ่งแปลว่าคนจัดทำผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ยังมีความผิดทางวินัยเพิ่มด้วย
การหาทุนเพื่อการกุศล หรือเป็นค่าใช้จ่ายของส่วนรวมของสถาบันการศึกษา โรงพยาบาล หน่วยราชการ สมาคม ชมรมต่าง ๆ เป็นเรื่องสมควรอย่างยิ่งที่จะให้การสนับสนุน แต่ปัญหามักเกิดขึ้น เมื่องานนั้นเกี่ยวข้องกับหน่วยราชการ หรือบุคคลที่มีอำนาจให้คุณให้โทษแก่ผู้อื่น และมีการระดมเงินด้วยวิธีที่ไม่เหมาะสม จนเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน และคอร์รัปชันตามมา
ปัญหานี้ยังใกล้เคียงกับพฤติกรรมเสี่ยงอื่น ๆ ที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน ได้เสนอมาตรการแก้ไข เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลในภาครัฐ ไม่ใช่หวังริดรอนสิทธิ์ หรือตัดประโยชน์ของหน่วยงาน หรือสร้างความยุ่งยากแก่ใคร เช่น เงินแป๊ะเจี๊ยะเข้าโรงเรียน เงินค่าคอมมิชชั่นยาในโรงพยาบาล เงินและที่ดินที่มีผู้บริจาคให้วัด เป็นต้น
พระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. 2487
มาตรา11
ห้ามมิให้อนุญาตให้บุคคลดังต่อไปนี้ จัดให้มีการเรี่ยไร หรือทำการเรี่ยไร
- บุคคลมีอายุต่ ากว่า 16 ปี
- บุคคลผู้มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ผู้ไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
- บุคคลเป็นโรคติดต่อที่น่ารังเกียจ
- บุคคลผู้เคยต้องโทษฐาน ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ โจรสลัด กรรโชก ฉ้อโกง ยักยอกทรัพย์ รับของโจร หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายลักษณะอาญา และพ้นโทษ มาแล้วยังไม่ครบห้าปี
- บุคคลที่พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่ามีความประพฤติหรือหลักฐานไม่น่าไว้ใจ
มาตรา 14
ห้ามมิให้จ่ายเงินหรือทรัพย์สินที่เรี่ยไรได้มานั้นในกิจการอย่างอื่นนอกวัตถุประสงค์แห่งการเรี่ยไร ตามที่ได้แสดงไว้ เว้นแต่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายพอสมควรในการเรี่ยไรนั้นเอง
มาตรา 15
เงินหรือทรัพย์สินที่เรี่ยไรได้มานั้น ถ้าไม่ต้องจ่ายเพราะไม่อาจด าเนินการตามวัตถุประสงค์ที่ได้แสดงไว้ หรือเหลือจ่ายเพราะเหตุใด ๆ ให้รายงานให้คณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไร หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ และให้คณะกรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอ านาจสั่งให้ส่งเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวแล้วไปประกอบการกุศลหรือสาธารณประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดตามแต่เห็นควร
ที่มา มานะ นิมิตรมงคล