ข่าว

รองโฆษก "อสส." แจง อัยการมีอำนาจสอบสวนคดี "สันติ" มือฆ่าหมกท้ายรถที่ไต้หวัน

17 มิ.ย. 2565

รองโฆษก "อสส." ชี้ “สันติ”มือฆ่าที่ไต้หวันเป็นอำนาจศาลไทย อสส.มีอำนาจสอบสวน ไม่หวั่นขั้นตอนหาพยานหลักฐานต่างประเทศ ระบุมีอัยการต่างประเทศคอยประสานความร่วมมืออยู่

17 มิ.ย.25 65 นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด  เปิดเผยถึง กรณีกล่าวถึงการดำเนินคดีนายสันติ (สงวนนามสกุล) อายุ 35 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ข้อหา “ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา” จากคดีฆ่า 2 สามีภรรยาและลูกแฝดในท้องรวม 4 ราย ที่ไต้หวัน ที่หลบหนีมาประเทศไทยเเละเข้ามอบตัวเมื่อช่วงเช้าวันนี้ว่า 

 

เรื่องดังกล่าวหากฝ่ายผู้เสียหาย ได้แก่ญาติ พ่อ แม่ พี่ น้อง  ของผู้เสียชีวิตทั้ง 2 คน  ขอให้ดำเนินคดีในไทย ก็จะสามารถดำเนินคดีกับ นายสันติ ในประเทศไทยได้ ซึ่งเป็นไปตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 8 บัญญัติไว้ว่าความผิดที่เกิดนอกราชอาณาจักร ถ้าเป็นความผิดเกี่ยวกับชีวิต หรือฆ่าคนตาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288  และผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดเป็นคนไทย ก็สามารถดำเนินคดีในประเทศไทยหรือศาลไทย และรับโทษในประเทศไทยได้หลักว่าไว้ 

 

 

 

 

ประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด

 

 

ส่วนการดำเนินการตามมาตรา 8 จะต้องมีการสอบสวน ซึ่งกระบวนการสอบสวนก็จะต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 20 ที่บัญญัติไว้ว่าความผิดนอกราชอาณาจักรอำนาจสอบสวนเป็นของอัยการสูงสุด ซึ่งอัยการสูงสุดสามารถมอบหมายให้พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไปหรือให้พนักงานสอบสวนร่วมกับอัยการสำนักงานการสอบสวนได้

 

แต่คดีนี้เกิดเหตุที่ไต้หวัน พยานหลักฐานแทบทั้งหมดจึงอยู่ที่ไต้หวัน กระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานจากประเทศต้นทางเพื่อเข้ามาในสำนวนการสอบสวน ถ้าหากจำเป็นต้องดำเนินการในส่วนนี้ทางสำนักงานอัยการสูงสุด มีสำนักงานอัยการต่างประเทศที่มีนายจุมพล พันธุ์สัมฤทธิ์ เป็นอธิบดีอัยการ สำนักงานต่างประเทศ เป็นผู้ประสานความร่วมมือกับทางการไต้หวัน แต่เนื่องจากไทยกับไต้หวันไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน เนื่องจากไต้หวันเองก็มีปัญหาละเอียดอ่อนที่มีประเด็นกับประเทศจีนอยู่ 

 

การประสานความร่วมมือระหว่างเรากับไต้หวันในเรื่องทำนองนี้จะผ่าน สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยเองก็มีสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทยประจำไต้หวันคอยประสานงานกัน ที่ผ่านมาการขอความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับไต้หวัน ก็ผ่านหน่วยงานดังกล่าวกันอยู่เป็นประจำ ในเรื่องนี้จึงไม่น่ามีปัญหา

 

 

 

สันดิ ผู้ต้องหาฆ่า2ศพ ที่ไต้หวัน

 

 

ซึ่งเมื่อมีการสอบสวนเสร็จแล้วสำนวนก็จะถูกส่งไปยังอัยการสูงสุดมีความเห็นเเละคำสั่ง เเละ หากมีคำสั่งฟ้องก็จะมอบให้อัยการสำนักงานคดีอาญาเป็นผู้ยื่นฟ้องคดีที่ศาลอาญาต่อไป

 

ส่วนกรณีถ้าทางการไต้หวันประสงค์จะขอตัวนายสันติ กลับไปจีน นั้น โดยหลักถ้าทางไต้หวันขอตัวส่งกลับไปก็จะเข้าสู่กระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามเเดน ซึ่งเมื่อเราไม่มีสนธิสัญญา ก็ต้องไปใช้วิธีทางการทูตเรื่องถ้อยทีถ้อยอาศัยผ่านสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปที่กล่าวมาข้างต้น เเต่เรื่องนี้ตน เข้าใจว่าเป็นอำนาจของศาลไทย ผู้เสียหายเป็นคนไทยและผู้ถูกกล่าวหาก็เป็นคนไทยคงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องส่งไปดำเนินคดีที่ไต้หวัน เพราะสามารถดำเนินคดีในประเทศไทยได้ ตามที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 8 บัญญัติไว้ 

 

“คดีนี้ไม่ส่งผู้ร้ายข้ามเเดนเพราะมีกฎหมายดำเนินคดีในไทยได้อยู่เเล้ว คนถูกดำเนินคดีก็คนไทย ป.อาญามาตรา 8 เขียนไว้ชัดเจนให้พิจารณาในศาลไทยเเละะอำนาจสอบสวนเป็นของอัยการสูงสุด และกระบวนการประสานงานต่อพยานหลักฐานสำนักงานอัยการต่างประเทศของประเทศไทยสามารถทำได้หมด”  รองโฆษกอัยการสูงสุด กล่าวย้ำ