16 มิ.ย.2565 รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) กล่าวว่า การปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ประเภทที่ 5 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2565 ทำให้ส่วนต่างๆ ของกัญชา ได้แก่ ใบ ช่อดอก เปลือก ราก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ทุกรูปแบบ ไม่มีสถานะเป็นยาเสพติด ยกเว้นสาร THC (Tetrahydrocannabinol) ที่เกิน 0.2% ยังเป็นสารเสพติด เพราะมีฤทธิ์ต่อจิตประสาท หากไม่ควบคุม ทำให้คนอยากใช้มากขึ้น
"ในทางการแพทย์ หากไม่ได้รับคำแนะจากผู้เชี่ยวชาญ การใช้กัญชาเองถือว่ามีความเสี่ยงต่อชีวิต สุขภาพ งาน และการขับขี่ยานพาหนะ จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายควบคุมให้รัดกุมในอนาคต โดยเฉพาะควบคุม "การสูบ” เพื่อสุขภาวะที่ดีของประชาชนทุกคนในสังคม"
รศ.พญ.รัศมน กล่าวต่อว่า เด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี คือกลุ่มเสี่ยงหลังปลดล็อกกัญชา เพราะเป็นวัยอยากรู้ อยากลอง แนะนำให้ครู ในโรงเรียนและผู้ปกครอง ทำความเข้าใจผลกระทบของกัญชา เช่น รับฟัง เปิดใจ ไม่ใช้อารมณ์ คุยกันอย่างซื่อสัตย์ จริงใจโดยไม่ใช้อารมณ์หรือทำให้หวาดกลัว เพราะจะทำให้เด็กและเยาวชนยิ่งอยากทดลองใช้
และควรหลีกเลี่ยงการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากกัญชา เช่น อาหาร ขนม เครื่องดื่ม รวมถึงการใช้ด้วยวิธีการสูบ เพราะกัญชาส่งผลกระทบต่อสมอง โดยงานวิจัยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่ากัญชาทำให้ความสามารถทางสติปัญญา (IQ) และความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ของเด็กและเยาวชนต่ำลง ซึ่งจะนำมาซึ่งผลกระทบ ดังนี้
- 1.ผลกระทบระยะสั้น มึนเมา หากมีภาวะเป็นพิษเฉียบพลันจะเกิดอาการ หัวใจเต้นแรง ความดันโลหิตต่ำหรือสูงเกินไป ปาก-คอแห้ง ตาแดง หายใจไม่สะดวก คลื่นไส้ อาเจียน อารมณ์แปรปรวน และเห็นภาพหลอน
- 2.ผลกระทบระยะยาว หากใช้กัญชา 2-3 ปีขึ้นไป จะเพิ่มความเสี่ยงให้เป็นโรคจิตเภท สมาธิสั้น ความคิด ความจำแย่ลง อ่อนล้า และเพลีย ทำให้ผู้ปกครองต้องดูแลเด็กและเยาวชนเป็นพิเศษ เพราะจากงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศพบว่าสาร THC ส่งผลกระทบต่อสมอง หากไม่ได้ใช้ในทางการแพทย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง