ข่าว

คลายล็อก "ชาวต่างชาติ" เดินทางเข้าไทย ไม่ต้องกรอก "ใบ ตม.6"

ครม. คลายล็อก "ชาวต่างชาติ" เดินทางเข้าประเทศไทย ผ่านทาง ท่าอากาศยาน ไม่ต้องกรอก "ใบ ตม.6" ลดแออัด ช่วงเปิดประเทศ

(14 มิ.ย.2565) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ โดยที่ประชุม ได้เห็นชอบในหลักการดำเนินการ ยกเว้นรายการของคนต่างด้าว ซึ่งเดินทางเข้าใน หรือ ออกไปนอกราชอาณาจักร (แบบ ตม.6) เฉพาะกรณีการเดินทางผ่านท่าอากาศยานเป็นการชั่วคราว จากนั้น จะประเมินผลระยะหนึ่ง เพื่อพิจารณาดำเนินการในแนวทางที่เหมาะสมต่อไป ส่วนกรณีการกรอกและยื่นใบตม.6 ของคนไทย ได้ยกเลิกไปตั้งแต่ปี 2560 ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 42/2560 

สำหรับการยกเว้นการกรอก และยื่นแบบ ใบ ตม.6 เป็นการชั่วคราว สำหรับชาวต่างชาติ เฉพาะผู้เดินทางเข้าประเทศไทยผ่านท่าอากาศยานนี้เนื่องจากเป็นช่องทางที่เวลานี้ มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังต้องมีการตรวจคัดกรองตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด19  

 

โดยจะมีการตรวจคัดกรอง เมื่อผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศลงจากอากาศยานใน 2 ส่วน คือ

 

  1. ตรวจแบบ ตม.6 โดยด่านตรวจคนเข้าเมือง
  2. ตรวจข้อมูลการรับวัคซีน คัดกรองโรค โดยด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ

 

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การยกเว้นการกรอกและยื่นแบบ ใบ ตม.6 สำหรับชาวต่างชาติ จะทำให้การตรวจลงตราหน้าด่านเป็นไปอย่างรวดเร็ว และลดปัญหาความแออัดของผู้โดยสาร และเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของท่าอากาศยาน ซึ่งเป็นประตูด่านแรกที่สะท้อนภาพลักษณ์ของประเทศ ทั้งนี้ เพื่อรองรับการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสามารถประหยัดงบประมาณสำหรับการจัดพิมพ์แบบ ตม.6 ซึ่งปัจจุบันมีการพิมพ์ในราคาแผ่นละ 0.70 บาท ซึ่งหากมีการจัดพิมพ์ตามปกติที่ 65 ล้านใบ จะคิดเป็นงบประมาณจัดพิมพ์ที่ 45.5 ล้านบาท

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า แต่การกรอกและยื่นแบบ ใบ ตม.6 สำหรับการเดินทางทางบก (รถยนต์ รถไฟ) และทางน้ำ(เรือ) คงให้ดำเนินการต่อไป เพราะมีจำนวนไม่มากอย่างมีนัยสำคัญ เหมือนช่องทางท่าอากาศยาน และยังคงเป็นประโยชน์ในด้านการป้องกันอาชญากรรมและการติดตามตัว

 

 

สำหรับการจัดเก็บและตรวจสอบข้อมูลโดยเฉพาะข้อมูลกายภาพของผู้เดินทางเข้าประเทศนั้น สามารถจัดเก็บผ่านระบบไบโอเมตริกส์ และในส่วนของข้อมูลด้านการท่องเที่ยว สามารถเก็บจากข้อมูลของผู้ประกอบการท่องเที่ยวและสายการบินได้

 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจาก ครม.ให้การอนุมัติในหลักการครั้งนี้แล้ว กระทรวงมหาดไทยจะได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการออกประกาศให้เป็นไปตามกฎหมาย และเกิดผลในทางปฏิบัติโดยเร็วต่อไป