ข่าว

ขุนช้างเป็นโทษ...

ขุนช้างเป็นโทษ...

13 มี.ค. 2553

คำว่าขุนช้างเป็นโทษปรากฏอยู่ในวรรณคดีเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนขุนช้างเกิดทะเลาะวิวาท กับพระไวย (พลายงาม)

ขุนช้างนั้นเป็นเศรษฐีเมืองสุพรรณ มั่งคั่งใหญ่โตมาก แต่ทั้งขุนช้างและพระไวยต่างก็เป็นข้าราชการ อยู่กับสมเด็จพระพันวษา พระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระพันวษาจึงต้องเสด็จออกวินิจฉัย ชำระความด้วยพระองค์เองเพื่อความเป็นธรรมอย่างไม่เห็นแก่หน้าขุนนางหรือเศรษฐี

กรณีนี้ปราชญ์ทางวรรณคดีอธิบายเอาไว้ว่า พระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนมักเสด็จออกประทับนั่งชำระความด้วยพระองค์เอง ดังจะเห็นได้ว่านามพระที่นั่งบางที่จึงได้มีคำว่าวินิจฉัย อย่างเช่นพระที่นั่ง อมรินทรวินิจฉัย เป็นต้น

กรณีขุนช้างเมื่อแรก ขุนช้างเป็นโจทก์นำความขึ้นทูลฟ้องกล่าวโทษพระไวยก่อน ด้วยข้อหาว่า พระไวยทำร้ายร่างกายตน แต่ครั้นสอบสวนไปมาขุนช้างกลับตกเป็นจำเลย ในคดีอาญาที่ได้ก่อไว้แต่ปางก่อน

เหตุก็เพราะขุนช้างเกิดเมาเหล้าในงานแต่งงาน นอกจากว่าจะเป็นผู้ก่อเรื่องขึ้นก่อนแล้ว ขุนช้างยังได้พลั้งปากเผยความลับเมื่อหลายปีก่อนออกมาว่าเคยทำร้ายและคิดฆ่าพระไวยตั้งแต่ครั้งยังเป็นเด็ก ด้วยการบีบคอและเอาขอนไม้ทับ
ขุนช้างจึงต้องถูกคดีอาญาร้ายแรงในข้อหาฆ่าคนตาย

ในบทกลอนท่อนหนึ่งได้กล่าวถึงพระวินิจฉัยในสมเด็จพระพันวษา ทรงเห็นว่า

 “อ้ายขุนช้าง เอามุสามาพาที   ในคดีพิรุธทุกประการ
แต่พยานร่วมกันยังติดใจ    ผิดวิสัยความหลวง กระทรวงศาล”

ดังนั้นต่อมาจึงต้องมีการดำน้ำพิสูจน์คู่กรณีทั้งสองฝ่าย

พิธีพิสูจน์ดำน้ำเป็นกระบวนการสอบสวนความคู่กรณีตามประเพณีโบราณอย่างหนึ่ง และเมื่อสมเด็จพระพันวษามีพระราชโองการสั่งให้ขุนช้างกับพระไวยดำน้ำตามพิธีแล้ว ปรากฏว่า ขุนช้างดำน้ำแพ้ถึง 2 ครั้ง

สมเด็จพระพันวษาทรงเหลืออดถึงกับด่าขุนช้างว่าเป็น “อ้ายโกหกแผ่นดินลิ้นกะลาวน ชอบแต่เฆี่ยนเสียให้ป่นคนเช่นนี้” จึงให้ขุนช้างต้องโทษถึงประหารชีวิต

ขุนช้างจึงต้องแกล้งทำเป็นบ้าอยู่พักหนึ่ง ก่อนเดินเข้าคุกไปรอรับโทษในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ขุนช้างก็ยังต่างไปจากนักโทษอีกหลายคนที่ไม่เคยโวยวาย ไม่เคยด่ากล่าวหาว่า กระบวนการทางศาลหรือระบบยุติธรรมไทยใช้ไม่ได้ไม่เป็นธรรมหรือว่ามีใครอยู่เบื้องหลัง ก็เพราะขุนช้างรู้ดีอยู่แก่ใจตนว่าได้ทำอะไรลงไปในอดีตที่ผ่านมา

ตามท้องเรื่องขุนช้างจึงได้รับพระราชทานอภัยโทษในเวลาต่อมา และได้ออกจากคุกพ้นโทษ กลับมาอยู่กับครอบครัวได้ตามปกติเหมือนเดิม

เล่าเรื่องขุนช้างเป็นโทษจากวรรณคดีมานี้ ก็เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับใครบ้างครับ