ข่าว

มนัญญา เตรียมตั้ง "วอร์รูมแก้หนี้สหกรณ์" 1.8 หมื่นล้าน

รมช.มนัญญา เตรียมตั้ง "วอร์รูมแก้หนี้สหกรณ์" 1.8 หมื่นล้าน เร่งช่วยเหลือคืนเงินสมาชิกให้เร็วที่สุด เน้นย้ำสหกรณ์ช่วยกันป้องกันการทุจริต ยกระดับการตรวจสอบอย่างเข้มข้น มุ่งสร้างความเชื่อมั่นระบบสหกรณ์

วันที่ 13 มิ.ย.65 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ แนวทางการปฏิบัติงานรองนายทะเบียนสหกรณ์ พร้อมทั้งมอบนโยบายในการกำกับดูแลสหกรณ์ทั่วประเทศและบรรยายพิเศษหัวข้อ นโยบายด้านการส่งเสริม กำกับ ดูแลสหกรณ์ เพื่อป้องกันการเกิดข้อบกพร่องและการทุจริตในระบบสหกรณ์

 

โดยมีนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ คณะผู้บริหาร สหกรณ์จังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 , 2 ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ ณ โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพมหานคร 

 

นางสาวมนัญญา กล่าวว่า ได้เตรียมตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหา"การทุจริตในสหกรณ์" ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งจะรวบรวม "หนี้ที่มีการทุจริตในระบบสหกรณ์" ทั้งสหกรณ์การเกษตรและสหกรณ์ออมทรัพย์ เบื้องต้น 18,000 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขดังกล่าวมาจากการสั่งการให้ทุกจังหวัดรวบรวมเข้ามาตัวเลขทุจริตเหล่านี้ จะนำมาใช้ในการแก้ไขตามกรณีแต่ละสหกรณ์ ซึ่งเป็นไปตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี  

 

      มนัญญา ไทยเศรษฐ์  รมช.เกษตรฯ

 

เป็นที่ทราบกันดีว่าได้เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อขบวนการสหกรณ์ ซึ่งจากนี้จะขับเคลื่อนการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในระบบสหกรณ์ซึ่งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กำชับติดตามความคืบหน้าและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ รวมถึง ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกฯด้วย

 

ในวันพรุ่งนี้ จะมีการประชุมรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานต่างๆ ตามที่นายกฯ ได้มอบหมาย ล่าสุดความเสียหายประมาณ 18,000 ล้านบาท โดยจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด และจะมีการตั้ง "วอร์รูม" เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องนี้โดยเฉพาะซึ่งจะเป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลของทุกสหกรณ์จังหวัด มีกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ทำงานร่วมกันในการตรวจสอบ โดยมีตนเป็นประธานเพื่อให้ทรัพย์สินที่ยึดคืนมา คืนกลับให้สมาชิกสหกรณ์ให้เร็วที่สุด ซึ่งจะมีการเปิดอย่างเป็นทางการเร็ว ๆ นี้ นอกจากนั้นขอเน้นย้ำให้ทุกสหกรณ์ใช้แอปพลิเคชันของสหกรณ์เพื่อเปิดให้สมาชิกสามารถเข้ามาตรวจสอบสถานะทางการเงินให้เป็นปัจจุบัน  รมช.มนัญญา กล่าว

     วิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์

 

ด้านนายวิศิษฐ์  ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการทุจริตในระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ ว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์รับนโยบายจากนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ขณะนี้ได้ให้ความสำคัญต่อการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับ "สหกรณ์ออมทรัพย์" เป็นพิเศษเนื่องจากสหกรณ์ออมทรัพย์ในประเทศไทยปัจจุบันมีกว่า1,400 แห่ง ทุนดำเนินงานกว่า 2.74 ล้านล้านบาท

 

โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปติดตามดูแลระบบการเงินของสหกรณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งหาแนวทางป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดทุจริตซ้ำเหมือนกับที่ผ่านมา กรมฯ จึงได้สั่งการให้ทุกจังหวัดกำชับคณะกรรมการสหกรณ์วางระบบการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่สหกรณ์ออมทรัพย์ให้เป็นไปตามระเบียบของนายทะเบียนสหกรณ์และข้อบังคับของแต่ละสหกรณ์อย่างเคร่งครัดนั้น เพื่อรักษาผลประโยชน์ของสมาชิก
 

กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มอบหมายให้สหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัดเข้าไปแนะนำให้สหกรณ์ออมทรัพย์ในพื้นที่ที่รับผิดชอบจัดทำแอปพลิเคชันของแต่ละสหกรณ์เพื่อให้สมาชิกสามารถตรวจสอบยอดเงินในบัญชีของตัวเอง  ได้ตลอดเวลา และกำหนดให้เป็นตัวชี้วัดการปฏิบัติงานของสหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัด

 

ปัจจุบันสหกรณ์ออมทรัพย์มีทั้งหมด 1,400 กว่าแห่งทั่วประเทศ โดยกรมฯ ได้ตั้งเป้าหมายว่าสิ้นปี 2565 จะมีสหกรณ์ออมทรัพย์ประมาณ 500 แห่ง ที่สามารถจัดทำแอปพลิเคชั่นพัฒนาระบบการตรวจสอบการเงินให้ทันสมัยเพื่อให้สมาชิกสามารถตรวจสอบเงินตนเอง ได้ตลอดเวลาและควรจสนับสนุนให้สมาชิกใช้บริการไม่น้อยกว่าร้อยละ90 ของสมาชิกสหกรณ์ทั้งหมด อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว  

 

สำหรับโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการแนวทางการปฏิบัติงานของรองนายทะเบียนสหกรณ์จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 14 มิถุนายน 2565 เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภารกิจของรองนายทะเบียนสหกรณ์ที่ได้รับมอบหมายจากนายทะเบียนสหกรณ์ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายสหกรณ์อนุบัญญัติ แนวทางปฏิบัติตามกฎหมายสหกรณ์ แนวทางปฏิบัติงานในการกำกับ ดูแลและส่งเสริมสหกรณ์

 

ตลอดจนแลกเปลี่ยนเรียนรู้กรณีปัญหา แนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายสหกรณ์ ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง และคำแนะนำนายทะเบียนสหกรณ์ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานตามภารกิจของรองนายทะเบียนสหกรณ์ได้อย่างถูกต้อง

 

โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้บริหารกรมส่งเสริมสหกรณ์ สหกรณ์จังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 2 ผู้อำนวยการกลุ่มจัดตั้งและส่งเสริมสหกรณ์ ผู้อำนวยการ กลุ่มตรวจการสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่ รวม 270 คน ซึ่งเป็นบุคลากรของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริมสหกรณ์ ต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องระบบการเงิน การบัญชี การตรวจสอบ และการควบคุมภายใน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมสหกรณ์

 

รวมถึงในการกำกับดูแลสหกรณ์ ให้ดำเนินงานเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลให้สามารถสร้างความเชื่อถือและความเชื่อมั่นของสหกรณ์กับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ได้เป็นอย่างดี รวมถึงสามารถสร้างความเข้มแข็ง และความมั่นคงให้กับสหกรณ์ซึ่งจะเป็นผลดีกับสมาชิกต่อไป

ข่าวยอดนิยม