ข่าว

"กระทรวงสาธารณสุข" แนะ อาจยกเลิก "เครื่องวัดอุณหภูมิ" คัดกรองโควิด

13 มิ.ย. 2565

กระทรวงสาธารณสุข เผย ประเทศไทยผ่านการแพร่ระบาดโควิดครั้งใหญ่แล้ว ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรืออาการน้อยมาก การวัดอุณหภูมิอาจไม่จำเป็นแล้ว หลายประเทศเริ่มยกเลิกแล้ว

เมื่อวันนี้ (13 มิถุนายน 2565) นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นพ.ทรงคุณวุฒิระดับ 11) และประธานคณะกรรมการประมวลสถานการณ์โรคโควิด 19 กระทรวงสาธารณสุข (MIU) เปิดเผยว่า การวัดอุณหภูมิก่อนเข้าประเทศและตามสถานที่ต่างๆ เป็นหนึ่งในมาตรการคัดกรองโรคโควิด 19 ช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากอาการป่วยมักมีไข้เป็นอาการนำ แต่ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 มีความรุนแรงลดลงมาก ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมาก ผู้ติดเชื้อมากกว่าครึ่งไม่แสดงอาการหรือมีอาการเล็กน้อย รวมถึงผู้ป่วยสามารถปิดบังอาการไข้ได้ด้วยการกินยาลดไข้ ใส่เสื้อผ้าหนาปกคลุมร่างกาย การล้างหน้า และการใช้เครื่องสำอาง เป็นต้น คณะกรรมการ MIU จึงดำเนินการทบทวนมาตรการคัดกรองอุณหภูมิร่างกาย หลังผ่านพ้นการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด 19

นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า เครื่องวัดอุณหภูมิมีประสิทธิผลในการตรวจคัดกรองผู้ป่วยโควิด 19 ต่ำ โดยมีค่าความไวต่ำตั้งแต่ 0-39% ทำให้ค่าพยากรณ์ผลทั้งบวกและลบต่ำมาก ให้ผลบวกและลบปลอม ทั้งการใช้ที่สนามบินหรือสถานที่ต่างๆ ยังไม่พบหลักฐานทางวิชาการที่สนับสนุนถึงประโยชน์ในการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 ดังนั้น จึงมีข้อเสนอเชิงนโยบายและมาตรการว่า ในปัจจุบันและหลังผ่านพ้นการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด 19 อาจไม่จำเป็นต้องให้สนามบิน ช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศ และสถานประกอบการต่างๆ คัดกรองผู้ติดเชื้อด้วยการวัดอุณหภูมิ ซึ่งในต่างประเทศก็มีคำแนะนำคล้ายกัน เช่น อังกฤษ ออกคำแนะนำว่าไม่จำเป็นต้องวัดอุณหภูมิเพื่อคัดกรองผู้ป่วยโควิด, สิงคโปร์ยกเลิกการคัดกรองอุณหภูมิในที่สาธารณะ ตั้งแต่สิงหาคม 2564, สหรัฐอเมริกาและแคนาดา ปัจจุบันไม่มีคำแนะนำเรื่องการวัดอุณหภูมิสำหรับการคัดกรอง
 

นพ.รุ่งเรือง กล่าวต่อว่า สำหรับเครื่องวัดอุณหภูมิแบบสแกนร่างกายในสนามบินนั้น ไม่มีหลักฐานด้านประสิทธิผลในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เช่นกัน และยังต้องพัฒนานวัตกรรมที่มีประสิทธิผลในการคัดกรองโรคติดเชื้อที่ดีกว่านี้ในอนาคตสำหรับในกลุ่มนักเดินทาง นอกจากนี้พบว่ามาตรการคัดกรองอุณหภูมิที่สนามบินอาจทำให้เกิดความมั่นใจในความปลอดภัยมากเกินไปจนส่งผลให้ละเลยมาตรการอื่นๆ และทำให้เกิดความไม่สะดวก ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าว จะนำเสนอ ศบค. เพื่อพิจารณาต่อไป แต่ยังคงเน้นย้ำ มาตรการเรื่องวัคซีนเข็มกระตุ้น การสวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่เสี่ยง กลุ่มเสี่ยงและผู้ที่มีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้ ไอ มีน้ำมูก และให้มีการธำรงรักษาพฤติกรรมสุขภาพที่ดี เช่น การล้างมือ การเว้นระยะห่าง ลดความแออัด รวมถึงการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี