ข่าว

เช็คเลย ผู้ชาย อยากปลอด "มะเร็งต่อมลูกหมาก" ต้อง ทำการบ้าน กี่ครั้ง/เดือน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไหวมั้ย หมอดื้อ ยกผลวิจัย ผู้ชาย อยากปลอด "มะเร็งต่อมลูกหมาก" ต้อง ทำการบ้าน กี่ครั้งต่อเดือน เตือน จัดเวลาให้ดี อาจเสียชีวิตก่อน เกิดมะเร็งได้

(13 มิ.ย.2565) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือ หมอดื้อ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ค ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ยกผลวิจัย สำหรับ ผู้ชาย โดยเฉพาะ ระบุว่า ชายเราถึงอายุหนึ่งจะมีปัญหาเรื่อง “ฉี่” กล่าวคือ ยืนตั้งนานไม่ออกซักที ออกก็ไม่ค่อยจะพุ่ง เสร็จแล้วก็เหมือนไม่เสร็จ มีปัญหาจนไม่ค่อยอยากจะฉี่ ยอมอดน้ำ เลยลุกลามไปจนเลือดข้นหนืด ไปมีปัญหาต่อไต ต่อหัวใจ อัมพฤกษ์ต่อ 

สำหรับบุรุษเพศสาเหตุใหญ่สำคัญคือ ต่อมลูกหมากโต และมีเยอะที่เป็นมะเร็ง ถ้ายังไม่เป็นและยังไม่อยากผ่าตัด คว้านต่อม ก็มียา ซึ่งเดิมเป็นยาลดความดัน แต่ความที่ทำให้หูรูดในการฉี่บานได้ เลยเอามาใช้ในการนี้ แต่ควรต้องระวังความดันตก หน้ามืด ยาประเภทนี้ออกฤทธิ์ต้าน alpha receptor ยาอีกกลุ่มทำให้ต่อมลูกหมากเล็กลง ผ่านกระบวนการยับยั้งฮอร์โมน DHT ที่มาจากฮอร์โมนเพศชาย (5-Alpha Reductase Inhibitor) เช่น ยา Finasteride (Proscar) Dutasteride (Avodart) แต่แถมผลข้างเคียง คือ ลดความต้องการทางเพศ ไม่ค่อยแข็งตัว การขับเคลื่อนน้ำกาม (ejaculation) แปรปรวน แต่ที่ต้องระวังเป็นสำคัญคือยากลุ่มหลังนี้ ทำให้การตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมากที่ชื่อว่า PSA ได้ค่าลดลงจนถึงตรวจไม่เจอ เลยตายใจว่าไม่เป็นมะเร็ง ทั้ง ๆ ที่เป็น 

 

 

รายงานในปี 2011 พบว่า แม้ยากลุ่มหลังนี้จะลดการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากได้บ้าง แต่ถ้าเป็นแล้วยากลุ่มนี้อาจกลับทำให้เป็นมะเร็งแบบชนิดที่มีความรุนแรงลุกลามมากขึ้น ​อาหารเสริมที่อ้างว่าทำให้ต่อมเล็กลงชื่อ Saw Palmetto สกัดจากผลของ Serenoa Repens พบว่าไม่มีประสิทธิภาพจริงและอาจทำให้การตรวจค่ามะเร็ง PSA ได้ผลลบปลอม

 

 

ถึงตอนนี้มาถึงคำโบราณที่พูดกันมาในกลุ่มผู้ชายทั้งหลายว่า หนทางสุขภาพ รวมทั้งต่อมลูกหมากกันโต กันมะเร็ง คือ ปฏิบัติการ “ล้างท่อบ่อย ๆ” (keep the pipes clean!) และเป็นที่มาของการศึกษาฮือฮาทั่วโลก นับแต่มีการเสนอผลงานในที่ประชุมประจำปีของสมาคมระบบทางเดินปัสสาวะของอเมริกา และตีพิมพ์ในวารสาร European Urology (29 มีนาคม 2016)

ผลการศึกษา จากการติดตามโดยคณะศึกษาทางระบาดวิทยามะเร็งที่บอสตัน ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 31,925 คน ตั้งแต่ปี 1992 จนถึง 2010 โดยที่ ณ ปี 1992 อายุเกณฑ์เฉลี่ยอยู่ประมาณที่ 59 ปี ในช่วง 18 ปีของการติดตามมี 3,839 รายเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก และ 384 รายรุนแรงถึงชีวิต ขั้นตอนในการวิเคราะห์เจาะลึกตั้งแต่เริ่มต้นในปี 1992 มีการให้รายงานปริมาณจำนวนของการขับเคลื่อนน้ำกาม (แทนในที่นี้ด้วยปั่มปั๊ม) ในช่วงเวลาตั้งแต่อายุ 20-29, 30-39, 40-49 และ 50 เป็นต้นไป 

 

 

ทั้งนี้ มีการวิเคราะห์ของปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจมีส่วนให้เกิดมะเร็ง ผลที่น่าตื่นเต้นคือ ความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งจะลดลงถึงประมาณ 20% ถ้ามีอัตราการ ทำการบ้าน ปั่มปั๊มอยู่ในเกณฑ์อย่างน้อย 21 ครั้งต่อเดือน เมื่อเทียบกับผู้มีปฏิบัติการ 4-7 ครั้งต่อเดือน การลดความเสี่ยงของมะเร็งจะพบได้ในกลุ่มที่มีปฎิบัติการถี่ ทั้งทุกช่วงอายุ เหตุผลที่ใช้อัตรา 4-7 ครั้งต่อเดือนเป็นบรรทัดฐานในการเปรียบเทียบ เนื่องจากมีน้อยมากที่กลุ่มคนในการศึกษานี้ ปฏิบัติในช่วง 0-3 ครั้งต่อเดือนจึงตัดออกไป

 

สำหรับปั่มปั๊ม ทำการบ้าน น้อยกว่า 21 ครั้ง อย่าเพิ่งเสียใจ ถ้าอัตรา 8-12 ครั้งต่อเดือนในช่วง 40-49 ปี จะมีความเสี่ยงลดลง 10% และถ้าอยู่ในอัตรา 13-20 ครั้งต่อเดือน ในช่วงอายุนี้จะมีความเสี่ยงลดลง 20% (มีนัยสำคัญทางสถิติ P trend <.0001) เมื่อดูลึกละเอียดลงของกลุ่มปั่มปั๊ม 21 ครั้ง พบว่า กลุ่มนี้กลับไม่ค่อยเป็นกลุ่มรักสุขภาพนัก กินเยอะ ดื่มเยอะ มีโอกาสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาก และดูดบุหรี่เยอะ แต่กลุ่มนี้ไม่ได้ตายเร็วขึ้น เนื่องจากสาเหตุอื่น ๆ กลไกของการป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมาก ยังไม่เป็นที่แน่ชัด 

 

ทั้งนี้ เป็นได้ที่ต่อมลูกหมากสะสมสารพิษที่จะก่อมะเร็งไว้ (prostate stagnation ) และการขจัดชะล้างโดยการขับเคลื่อนออกไป อาจจะลดความเสี่ยง แต่ทั้งนี้อาจเป็นผลอื่น ๆ จากการที่มีการขับเคลื่อน หรือการออกกำลังปั่มปั๊มอาจจะปรับเปลี่ยนสภาพสภาวะแวดล้อมในเนื้อเยื่อต่อม อีกทั้ง ปฏิบัติการอาจก่อให้เกิดความหรรษาสุขอย่างฉับพลันในวินาทีนั้น ก่อให้เกิดการสั่งงานผ่านสมองมายังระบบภูมิคุ้มกัน จะอย่างไรก็แล้วแต่ 21 ครั้งต่อเดือน เท่ากับมากกว่า 5 ครั้งต่ออาทิตย์ จัดเวลาให้ดีนะครับ อาจจะเสียชีวิตซะก่อนเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก

 

 

 


ที่มา ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ