ข่าว

"อาการทางจิต" ของ "กัญชา" หมอดื้อ เปิดกลไกที่จะทำให้เกิดอาการหลังการใช้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"หมอดื้อ" เปิดกลไกที่จะทำให้เกิดอาการหลังการใช้ "กัญชา" ทั้ง "อาการทางจิต" จริง และไม่จริง พบวิถีไทยใช้เพิ่อทำอาหารโดยไม่ถึงขั้นมึนเมา

"หมอดื้อ" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ถึง "อาการทางจิต" ประสาทที่เกิดเนื่องจากการใช้ "กัญชา" เป็นที่ทราบทั่วกัน และจนกระทั่งเป็นหัวข้อของการประชุมระดับประเทศ ของนักวิทยาศาสตร์ทางสมองของสหรัฐฯ ร่วมกับหน่วยงานปราบปรามยาเสพติด และ อย. ในปี 2016 จัดโดย New York Academy of Science

 

และหลังจากนั้น มีการประมวลข้อมูลและหลักฐานรวมกระทั่งถึงการพิสูจน์เชื่อมโยงกลไกที่จะเกิดมี "อาการทางจิต" อันประกอบไปด้วย บุคคลนั้นๆ จะมีสภาวะเปราะบาง นั่นคือถูกกำหนดจากรหัสพันธุกรรม นอกจากนั้นยังสามารถอธิบายได้จากผลกระทบจากจุดประสงค์ของการใช้เพื่อการเสพสนุกเฮฮาอย่างเดียวโดยใช้ปริมาณสูง

 

ในส่วนของรหัสพันธุกรรมนั้น ใช้ประโยชน์จากการที่มีการรวบรวมรหัสพันธุกรรมของคนเป็น 100,000 คน ในช่วงเวลาเป็น 10 ปีที่ผ่านมาและในการศึกษารหัสพันธุกรรมนั้น จะมีรายละเอียดของบุคคลแต่ละคน วิธีการดำเนินชีวิต ประวัติการเจ็บป่วย อาหารการกิน การใช้ยาต่างๆ รวมกระทั่งถึงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ใช้สารเสพติด และการใช้กัญชา เป็นต้น

 

ซึ่งข้อมูลเหล่านี้หลอมรวมกันเป็น "บิ๊กดาต้า" ในการเชื่อมโยงดัชนีชี้วัดทางสุขภาพ ทางพันธุกรรม เข้ากับการศึกษาเชิงสมอง ในเรื่องของหน้าที่ ตำแหน่งที่แปรปรวน ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ รวมกระทั่งถึงภาพคอมพิวเตอร์สมองแบบพิเศษ เป็นต้น

 

ผลจากการศึกษาสามารถสรุปได้โดยสังเขปถึงอาการทางจิตที่เกิดเนื่องจาก "กัญชา" จะประกอบไปด้วย

 

1. จะเกิดจากวัตถุประสงค์ที่ใช้เพื่อเฮฮา ดังนั้นปริมาณของการเสพ จะมีสาร THC เป็นจำนวนมากในครั้งเดียว

 

2. คนที่จะมีอาการทางจิตนั้นจะใช้เสพตามข้อ 1 และจะมี ลักษณะถูกกำหนดโดยรหัสพันธุกรรมจำเพาะ 

ก. โดยแบ่งออกเป็นเมื่อใช้แล้วจะถูกกำหนดให้ชอบและใช้บ่อยจนกระทั่งติด และเกิดมีการเปลี่ยนแปลงในสมองเฉพาะส่วนและในจำนวนนี้เมื่อใช้ต่อจะเกิดมีอาการทางจิตขึ้น หลักฐานทางสมองและมีรหัสพันธุกรรมเหล่านี้ค้นพบตั้งแต่ปี 2018

ข. สำหรับคนที่ไม่เคยใช้กัญชาเลยแต่ใช้ครั้งแรกและเจอกับ THC ในปริมาณสูงมาก เช่น 10 มิลลิกรัมหรือมากกว่าในครั้งเดียวและเกิดมีอาการทางจิตวิปลาสเกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นจากการที่มีรหัสพันธุกรรมที่หายากที่รายงานในปี 2019 AKT1 ยีน

 

ทั้งนี้ "อาการทางจิต" นั้นจะหายไปเองโดยที่ไม่ต้องรักษาและถือเป็นข้อห้ามไม่ให้ใช้กัญชาแม้ว่าจะเป็นทางการแพทย์ก็ตามที่มี THC ยกเว้นเสียแต่ว่าใช้ CBD dominant กล่าวคือมีอัตราส่วนระหว่าง CBD : THC มากกว่า 20 : 1 ในภาวะเช่นโรคทางสมองบางชนิดที่ดื้อต่อยาปัจจุบันและใช้ CBD dominant ยังควบคุมอาการได้ไม่ดี เช่นโรคลมชักที่ดื้อยาอาจค่อยๆ ปรับเปลี่ยนเป็น CBD rich คือ อัตราส่วนอยู่ที่ 10 : 1

 

ทั้งนี้ คำว่า CBD นั้นจะไม่ใช่ CBD เดี่ยวๆ ตัวเดียว แต่เป็น CBD และอนุพันธ์อื่นๆ จึงทำให้ได้ผลโดยไม่ต้องใช้ CBD ปริมาณสูงตามตำราต่างประเทศในสมัยก่อนซึ่งขณะนี้มีการปรับเปลี่ยนกันหมดแล้ว

 

ค. "อาการทางจิต" ที่เกิดขึ้นหลังจากเสพโดยต้องการให้สนุกเฮฮา ตามข้อ 1 แต่เสพเกินเลยไปจนกระทั่งเมา (intoxication) จะมีอาการทางจิตได้สองแบบคือ

ค.1 เป็นอาการที่ไม่ใช่อาการทางจิตจริง และเป็นความแปรปรวนของการรับภาพ แปลภาพที่เห็นและมิติของภาพที่เห็น ทำให้บิดโย้ หรือมีความกว้างยาวและลึกแปรปรวน รวมทั้งสีผิดเพี้ยนไป ซึ่งเป็นผลจากความแปรปรวนของก้านสมองส่วนบนไปสู่สมองส่วนท้ายทอยซึ่งรับและแปลภาพที่เห็น โดยหายไปเองเมื่อหายเมา

ค.2 เป็นอาการทางจิตจริง เรียกว่าเป็น psychotic like experience และเกิดขึ้นจากการที่มีรหัสพันธุกรรมจำเพาะเช่นกัน แต่ต้องเสพกัญชาด้วยวัตถุประสงค์ตามข้อ 1 และใช้บ่อยและจนกระทั่งเกิดวิปลาสชั่วขณะได้ และหายไปได้เอง รหัสพันธุกรรมดังกล่าวสามารถอธิบายได้ 69.2 ถึง 84.1% โดยมีการรายงานในปี 2018 (คนละรายงานจากข้างต้น)

 

ลักษณะตามข้อนี้จะมีลักษณะอาการทางจิตอยู่นานกว่าแม้ว่าจะหายเมาแล้วก็ตาม โดยที่มีการทรงตัวเป็นปกติแล้วเป็นต้น ซึ่งในกรณีของข้อ ค.2 เป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้กัญชาทางการแพทย์ให้ปฏิบัติตามข้อ ข.

 

อย่างไรก็ตาม อาการติดกัญชา โดยที่จะมีอาการทางจิตหรือไม่มีก็ตาม สามารถหยุด "กัญชา" ได้ทันที โดยที่จะกลับเป็นปกติได้ในระยะเวลาประมาณ 28 วัน ทั้งนี้ อาจจะช่วยให้การติดนั้นดีขึ้นเร็ว ด้วยการใช้ CBD และอนุพันธ์ โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยาโรคจิตหรือยาสงบประสาทอื่นๆ

 

ในกรณีที่ใช้ส่วนอื่นที่ไม่ใช่ช่อดอกมาใช้ในวิถีชีวิตประจำวันและใช้ในการประกอบอาหารนั้น ปริมาณของส่วนที่จะออกฤทธิ์ทางจิตประสาทนั้นมีปริมาณน้อยมากและเป็นที่รับทราบกันดีในผู้สูงอายุในประเทศไทยที่นำใบสดมาทำเป็นใบปั่นโดยจะร่วมหรือไม่ร่วมกับผลไม้อื่นก็ตาม หรือทำเป็นใบแห้งโดยจะทำให้แห้งโดยไม่ถูกความร้อนหรือจะถูกความร้อนก็ตามและนำมาบดใส่ถุงชาและดื่มเป็นน้ำชาไปตลอดทั้งวัน และรวมกระทั่งนำมาประกอบอาหาร

 

ทั้งนี้ "วิถีไทย" ในการใช้ใบกัญชาและส่วนอื่นที่ไม่มีช่อดอก ใส่เพื่อรสชาติของอาหารและเพื่อ "ความสุข" โดยไม่ถึงกับเมา และในครอบครัวคนไทยไม่ได้มีจุดประสงค์ให้กินอาหารแล้วเกิดเมาอาเจียนเวียนหัวบ้านหมุน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น คือทำอาหารไม่เป็น และจะผิดจุดประสงค์ของการใช้เพื่อวิถีไทยและการทำอาหารโดยสิ้นเชิง

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ