ข่าว

"ก้าวไกล" ขอ "สมรสเท่าเทียม" ไม่เอา "พ.ร.บ.คู่ชีวิต"

"ก้าวไกล" ขอ "สมรสเท่าเทียม" ไม่เอา "พ.ร.บ.คู่ชีวิต"

12 มิ.ย. 2565

"พ.ร.บ.คู่ชีวิต" สร้างเงื่อนไข ให้กลุ่ม "ความหลากหลายทางเพศ" พรรค "ก้าวไกล" วอน เพื่อน ส.ส.ช่วยผลักดันร่างกฎหมาย "สมรสเท่าเทียม" แทน

ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนผู้มีความหลากหลายทางเพศ แถลงเรียกร้อง ส.ส. จากทุกพรรคการเมืองร่วมลงมติให้ ร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ หรือ สมรสเท่าเทียม ในวันพุธที่จะถึงนี้โดยระบุว่า สัปดาห์ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมสภามีการอภิปรายยาวนานกว่า 8 ชั่วโมง จนเป็นที่สังเกตว่าอาจเป็นความพยายามดึงเวลาให้ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมไม่สามารถเข้าสู่การพิจารณาได้ทันเวลาหรือไม่ และยังมีความเป็นไปได้ที่คณะรัฐมนตรีจะนำร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต เข้ามาประกบกับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวันพุธนี้

 

\"ก้าวไกล\" ขอ \"สมรสเท่าเทียม\" ไม่เอา \"พ.ร.บ.คู่ชีวิต\"

 

พรรคก้าวไกลต้องยืนยันอีกครั้ง ว่าร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ไม่เท่ากับ พ.ร.บ. คู่ชีวิต และในความเป็นจริงไม่สามารถประกบในการพิจารณาได้ เนื่องจากการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ บัญญัติสิทธิในการสมรสไว้อยู่แล้ว ขณะที่ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิตเป็นร่างกฎหมายฉบับใหม่ จะพิจารณาร่วมกันไม่ได้

ธัญวัจน์ ยังระบุอีกว่า ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต เป็นกฎหมายที่มีหลักการมองคนไม่เท่ากัน การที่คณะรัฐมนตรีนำมาเข้าประกบจึงเป็นเรื่องการเมืองอย่างไม่สามารถปฏิเสธได้ แม้พรรคก้าวไกลจะมีความกังวล แต่ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ได้พยายามพูดคุยกับ ส.ส. ต่างพรรคต่างฝ่าย อธิบายความแตกต่างระหว่างร่างทั้งสอง ขอฝากถึง ส.ส. จากทุกพรรคการเมือง ว่าการลงมติให้ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเท่านั้น คือการยอมรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศแบบไม่มีเงื่อนไข การลงมติให้ พ.ร.บ. คู่ชีวิต เท่ากับยังคงสร้างเงื่อนไขให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศอยู่.

 

การสมรสคือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องมีไม่ว่าจะเพศอะไร ซึ่งกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศได้ถูกพรากไป เราไม่ได้เรียกร้องสิทธิแต่เราขอคืนสิทธิ เราไม่ได้ต้องการสิ่งที่คล้ายคลึงแต่ต้องการสิ่งที่เท่าเทียม นี่คือเรื่องของเราทุกคน ไม่ใช่แค่กลุ่ม LGBTQ+ ประชาชนต้องร่วมกันส่งเสียงของเรา ว่าเราไม่ได้ต้องการสิ่งที่ใกล้เคียงคล้ายคลึงอย่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต  แต่เราต้องการความเท่าเทียม การโหวตให้ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเท่านั้น คือการยอมรับสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง เพราะ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ยืนบนหลักการมองคนไม่เท่ากันและสร้างเงื่อนไขให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศ