ข่าว

เทียบหลักเกณฑ์ "ประมูล" 2 ครั้ง "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" กลิ่นหึ่ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อดีตรองผู้ว่าฯกทม. เทียบหลักเกณฑ์ประมูล "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" สองครั้ง เหลือ "ผู้รับเหมา" ผ่านหลักเกณฑ์เพียงสองราย

สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯกทม.โพสเฟสบุ๊คตั้งคำถามถึงความน่าสงสัยมีการล๊อกสเปคประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกหรือไม่  ในหัวข้อ
ด่านโหด ! ตรวจผู้รับเหมาประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกล็อกหรือไม่ มีเนื้อหาว่าการเสนอตัวเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกจะต้องผ่านด่านโหดตรวจคุณสมบัติว่ามีครบหรือไม่ ? การประมูลครั้งที่ 2 หลังล้มประมูลครั้งที่ 1 ด่านนี้ถูกเพิ่มดีกรีจนอาจกลายเป็นการล็อกสเปคหรือไม่ ?

 

เทียบหลักเกณฑ์ "ประมูล"  2 ครั้ง "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" กลิ่นหึ่ง

การประมูลครั้งที่ 1ในเดือนกรกฎาคม 2563 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดประมูลหาเอกชนมาร่วมลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) และเดินรถตลอดสายทั้งช่วงตะวันตกและตะวันออก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) แต่ รฟม.ได้เปลี่ยนเกณฑ์การประมูลก่อนวันยื่นข้อเสนอทำให้ถูกฟ้อง และได้ล้มประมูลเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ทำให้ต้องเปิดประมูลครั้งที่ 2   

ในขณะนี้ รฟม. กำลังเปิดประมูลครั้งที่ 2 โดยกำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการก่อสร้างงานโยธา โดยมีสัญญาที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐบาลไทยที่แล้วเสร็จภายในช่วงระยะเวลา 20 ปี ครบทั้ง 3 ประเภทตามที่กำหนด” ประสบการณ์ด้านงานโยธา 3 ประเภท ประกอบด้วย
-งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินด้วยหัวเจาะ มูลค่าไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท
-งานออกแบบและก่อสร้างสถานีใต้ดิน หรือสถานียกระดับของระบบขนส่งมวลชน มูลค่าไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท
-และงานออกแบบและก่อสร้างทางวิ่งพร้อมรางที่ 3 แบบไม่ใช้หินโรยทาง มูลค่าไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท

ซึ่งจากจากการเปรียบเทียบคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอในการประมูลครั้งที่ 1 กับครั้งที่ 2 พบว่าครั้งที่ 2 กำหนดคุณสมบัติที่ยากขึ้นคือการประมูลครั้งที่ 1 ไม่ได้กำหนดให้เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐบาลไทย เพียงแต่ระบุว่า ถ้าเป็นผลงานและประสบการณ์ในประเทศไทยจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ เท่านั้น

 

เทียบหลักเกณฑ์ "ประมูล"  2 ครั้ง "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" กลิ่นหึ่ง

ด้วยเหตุนี้ การประมูลครั้งที่ 2 จะทำให้ผู้ยื่นข้อเสนอหาผู้รับเหมาที่มีผลงานด้านโยธาครบทั้ง 3 ประเภทตามที่กำหนดได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นผู้รับเหมาไทยหรือผู้รับเหมาต่างชาติ อาจจะต้องใช้ผู้รับเหมา 2-3 ราย และแม้ว่าจะสามารถหาได้ ก็คงได้คะแนนด้านเทคนิคไม่ผ่านเกณฑ์ที่ถูกปรับให้สูงขึ้น

การประมูลทั้ง 2 ครั้ง กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีผลงานด้านโยธาที่แล้วเสร็จ แต่การประมูลครั้งที่ 1 อนุโลมให้ผู้ยื่นข้อเสนอที่มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการก่อสร้างงานโยธาที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานและยังไม่แล้วเสร็จ สามารถนำเสนอเอกสารซึ่งแสดงคุณสมบัติทางด้านเทคนิค ประสบการณ์ ที่ได้รับการรับรองมูลค่าการเบิกจ่ายในแต่ละงานมายื่นแทนได้ ในขณะที่การประมูลครั้งที่ 2 กำหนดให้ใช้ผลงานที่แล้วเสร็จเท่านั้น ทำให้หาผู้รับเหมามาร่วมยื่นข้อเสนอได้ยาก

(3) การประมูลทั้ง 2 ครั้ง กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอที่ขาดประสบการณ์ในการบริหารจัดการก่อสร้างงานโยธาสามารถนำประสบการณ์และผลงานของผู้รับเหมามาแสดงเพื่อประกอบการยื่นข้อเสนอได้ แต่ในครั้งที่ 2 รฟม. กำหนดเพิ่มเติมจากครั้งที่ 1 ว่า โดยผู้รับเหมาต้องเป็นนิติบุคคลไทยรายเดียว หรือกลุ่มนิติบุคคลที่มีนิติบุคคลไทยถือหุ้นรวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 51%

การกำหนดให้ ผู้รับเหมาต้องเป็นนิติบุคคลไทยรายเดียว นั้น ทำให้บนโลกใบนี้มีผู้รับเหมาเพียง 2 รายเท่านั้นที่มีผลงานด้านโยธาครบทั้ง 3 ประเภทตามที่กำหนด ซึ่งทั้ง 2 รายนี้เป็นผู้รับเหมาไทย ถ้าผู้รับเหมาไทยทั้ง 2 รายนี้มีเป้าหมายแน่ชัดแล้วว่าจะร่วมยื่นข้อเสนอกับผู้เดินรถไฟฟ้ารายใดรายหนึ่ง ก็จะทำให้ผู้เดินรถไฟฟ้ารายอื่นยากที่จะหาผู้รับเหมามาร่วมงานได้ แม้ว่าจะต้องใช้ผู้รับเหมา 2-3 รายรวมกันเป็นกลุ่มนิติบุคคลเพื่อทำให้มีผลงานด้านโยธาครบทั้ง 3 ประเภทก็ตาม เนื่องจาก รฟม. กำหนดว่า จะต้องเป็นกลุ่มนิติบุคคลที่มีนิติบุคคลไทยถือหุ้นรวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 51% ทำให้ผู้รับเหมาต่างชาติบางรายไม่สามารถร่วมยื่นข้อเสนอได้

 

จากการที่ รฟม. เปิดขายเอกสารสำหรับคัดเลือกเอกชนตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2565 ถึงวันสุดท้ายคือวันที่ 10 มิถุนายน 2565 พบว่ามีบริษัทซื้อเอกสารฯ จำนวน 14 ราย แบ่งเป็นผู้เดินรถไฟฟ้า 3 ราย ผู้รับเหมา 7 ราย และผู้ผลิต (Supplier)-นักลงทุน (Investor) 4 ราย ในส่วนของผู้รับเหมานั้น แบ่งเป็นผู้รับเหมาไทย 4 ราย และผู้รับเหมาต่างชาติ 3 ราย

การที่มีบริษัทซื้อเอกสารฯ 14 รายนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้มีผู้ยื่นข้อเสนอถึง 14 ราย เนื่องจากแต่ละบริษัทมีคุณสมบัติไม่ครบ จำเป็นต้องหาบริษัทอื่นที่ซื้อเอกสารฯ มาร่วมเพื่อทำให้มีคุณสมบัติครบ เมื่อดูรายชื่อบริษัทที่ซื้อเอกสารฯ แล้ว ก็พอจะคาดการณ์ได้ว่าจะมีผู้ยื่นข้อเสนอดังนี้
(1) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ร่วมกับ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK
(2) ผู้เดินรถไฟฟ้าจากต่างประเทศ (น่าจะเป็น Incheon Transit Corporation จากเกาหลีใต้) ร่วมกับ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD

ส่วนบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ซึ่งเป็นผู้เดินรถไฟฟ้า ไม่แน่ใจว่าจะสามารถหาผู้รับเหมามาร่วมยื่นข้อเสนอได้หรือไม่ หากมีผู้ยื่นข้อเสนอน้อย และ/หรือ มีผู้ยื่นข้อเสนอที่สามารถผ่านเกณฑ์เทคนิคได้น้อย อาจทำให้ รฟม. ไม่ได้รับผลตอบแทนสูงสุดที่ควรจะได้

 

สามารถระบุว่าไม่สามารถพูดได้ว่าการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกครั้งที่ 2 นี้มีการล็อกสเปคหรือไม่  ขอให้ผู้อ่านพิจารณาเอาเอง ทั้งหมดนี้ ด้วยความหวังดีที่อยากให้การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกสำเร็จลุล่วงไปด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม มีการแข่งขันกันอย่างจริงจัง ที่สำคัญ สามารถเปิดให้บริการได้ในอีกไม่นาน

หมายเหตุ : ข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้น

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ