หลังจากเมื่อวานนี้ (8 มิ.ย. 65) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาประหารชีวิต ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ ผกก.โจ้ อดีต ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ และพวกอีก 5 คน ส่วนจำเลยที่ 6 จำคุก 5 ปี 4 เดือน ในคดี "ถุงคลุมหัว"
โดยผกก.โจ้และพวก 5 คน ถูกแจ้ง 4 ข้อหา ประกอบด้วย
1.เป็นเจ้าพนักงานของรัฐร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
2.เป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
3.ฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย
4.ร่วมกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นหรือผู้อื่นหรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้นไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมสิ่งนั้น
อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 157, 288, 289(5), 309 วรรค 2 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 4 และ 172
ในความผิดนี้ มาตรา 289(5) ถือเป็นโทษที่หนักที่สุด มีโทษประหารชีวิตสถานเดียว โดยไม่มีโทษจำคุก แต่ที่ผ่านมาในประเทศไทยนั้น ผู้ต้องหาคดีนี้มักถูกดำเนินคดี ตามมาตรา 288 ว่าด้วย ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี เท่านั้น
สำหรับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289 ประกอบด้วย
1.ฆ่าบุพการี
2.ฆ่าเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่จะกระทำ หรือได้กระทำการตามหน้าที่
3.ฆ่าผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน ในการที่เจ้าพนักงานนั้นกระทำตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่บุคคลนั้นจะช่วยหรือได้ช่วยเจ้าพนักงานดังกล่าวแล้ว
4.ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
5.ฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย
6.ฆ่าผู้อื่นเพื่อตระเตรียมการ หรือเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่น
7.ฆ่าผู้อื่นเพื่อจะเอา หรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทำความผิดอื่น เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน หรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้
อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่า กฎหมายอาญา ม. 289(5) ไม่เคยนำมาใช้ ในอดีตเคยนำพิพากษาเช่นกัน ยกตัวอย่าง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6663/2562 การที่จำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 ชกต่อยและแยกย้ายจากกันแล้ว จำเลยบอกผู้เสียหายที่ 1 ให้รออยู่ก่อน จำเลยจะกลับไปเอาอาวุธปืน ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง นับเป็นเวลาเพียงพอที่จำเลยสามารถระงับสติอารมณ์ทำให้โทสะหมดสิ้นไปและกลับมามีสติสัมปชัญญะได้ ดังนั้นเมื่อจำเลยกลับมายังที่เกิดเหตุแล้วใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 1 จึงเป็นเหตุการณ์ที่ขาดตอนกันไปแล้ว พฤติการณ์ของจำเลยบ่งชี้ให้เห็นว่าตระเตรียมพร้อมที่จะกลับไปฆ่าผู้เสียหายที่ 1 จึงมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายที่ 1 โดยไตร่ตรองไว้ก่อน เมื่อผู้เสียหายที่ 1 ไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 โดยไตร่ตรองไว้ก่อน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8572/2558 แม้ขณะเกิดเหตุดาบตำรวจ ช. จะคอยอยู่ที่ตู้ยามพิชัยรักษ์ แต่ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหัวหน้าเขตงานตู้ยามพิชัยรักษ์ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเพียงคนเดียวที่จะต้องควบคุมการทำหน้าที่ของผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานหลายคน ทั้งดาบตำรวจ ช. ยังเตรียมพร้อมที่จะออกไปสนับสนุนการทำหน้าที่ของผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน ย่อมถือได้ว่าเป็นเจ้าพนักงานที่กำลังกระทำการตามหน้าที่ ส่วนผู้ตายและผู้เสียหายนอกจากจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน ตามคำสั่งสถานีตำรวจภูธรเมืองอุดรธานีแล้ว ในวันเกิดเหตุผู้ตายและผู้เสียหายได้แต่งกายในชุดผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน ซึ่งบุคคลที่พบเห็นย่อมทราบว่าเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน และยังได้รับมอบหมายจากดาบตำรวจ ช. ให้ออกตรวจท้องที่และกวาดล้างกลุ่มวัยรุ่นที่กระทำการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จึงฟังได้ว่าผู้ตายและผู้เสียหายเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการที่เจ้าพนักงานนั้นกระทำการตามหน้าที่ การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายและผู้เสียหาย 1 นัด จากนั้นจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้อาวุธมีดดาบฟันผู้ตายและผู้เสียหายหลายครั้ง เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายและผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฆ่าและร่วมกันพยายามฆ่าผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการที่เจ้าพนักงานนั้นกระทำการตามหน้าที่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง