ข่าว

9 วิธีแก้ปัญหา "ผ่าตัดไส้ติ่ง" ผู้ป่วยรอคิวนานจนไส้ติ่งแตก-เสียชีวิต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อายุรแพทย์ระบบประสาท เผย 9 วิธี แก้ไขปัญหาการ "ผ่าตัดไส้ติ่ง" กรณีผู้ป่วยรอคิวนานเกินไปจนไส้ติ่งแตก และเสียชีวิต

ผู้ป่วย ไส้ติ่งอักเสบ ที่ต้องได้รับการผ่าตัด และถูกส่งตัวที่ที่โรงพยาบาลจังหวัดเพื่อรับการ "ผ่าตัดไส้ติ่ง" โดยศัลยแพทย์ แต่เนื่องจากห้องผ่าตัดไม่ว่างนอกเวลาราชการ ทำให้ต้องมีการเลื่อนคิวการผ่าตัดออกไปนั้น เชื่อมั่นว่าถ้าสมาคม ราชวิทยาลัย หรือวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง แพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ได้มีการพูดคุยเรื่องนี้อย่างจริงจัง สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างแน่นอน

 

หมอสมศักดิ์ เทียมเก่า อายุรแพทย์ระบบประสาท เปิดเผยว่า ในฐานะหมออายุรกรรมระบบประสาท ที่เคยพัฒนาระบบบริการโรคหลอดเลือดสมอง โดยการสร้างเครือข่ายโรงพยาบาล node ให้กระจายทั่วทุกพื้นที่ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้เร็วที่สุด เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านเวลา คือ ต้องรีบทำการรักษาให้เร็วที่สุด ไม่ให้เวลาตั้งแต่เริ่มมีอาการจนกระทั่งได้รับยาละลายลิ่มเลือดในผู้ป่วยอัมพาตชนิดสมองขาดเลือด ไม่ให้เกินเวลา 270 นาที

 

ซึ่งโดยมาตรฐานก็ต้องเป็นหน้าที่การให้การรักษาด้วยอายุรแพทย์ระบบประสาท แต่ในความเป็นจริง เราไม่มีอายุรแพทย์ระบบประสาทเพียงพอในการรักษา และไม่มีการกระจายตัวไปในทุกพื้นที่ จึงต้องพัฒนาโรงพยาบาล node ซึ่งอาจเป็นอายุรแพทย์ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ภายใต้การแนะนำของอายุรแพทย์ระบบประสาท

 

ที่ผ่านมาตลอดเวลา 14 ปี ก็มีการเพิ่มโรงพยาบาล node กระจายไปในเกือบทุกพื้นที่ของประเทศไทย และผลการรักษาของโรงพยาบาล node ก็ได้มาตรฐานไม่แตกต่างกับโรงพยาบาลแม่ข่าย

 

จึงอยากแชร์ประสบการณ์ตรงเผื่อจะช่วยแก้ปัญหาการ "ผ่าตัดไส้ติ่ง" ได้บ้าง หลายคนอาจแย้งว่ามันคนละโรคกัน 2 ภาวะนี้ ระหว่างโรคอัมพาตกับโรค ไส้ติ่งอักเสบ ซึ่งก็จริง แต่ผมคิดว่าแนวทางที่ทำการพัฒนาระบบโรงพยาบาล node นั้นก็น่าจะมีประโยชน์ และมีระบบบางส่วนที่คล้ายคลึงกันบ้าง ผมจึงอยากเสนอแนวทางต่อไปนี้ ซึ่งแน่นอนย่อมมีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งการเห็นที่ต่างกันเป็นความสวยงามของการระดมความเห็นร่วมกัน ผู้รับผิดชอบโดยตรงจะได้ทราบความเห็นที่หลากหลาย ขอเสนอความเห็นดังนี้

 

1. ควรมีการพัฒนาโรงพยาบาล node ในการ "ผ่าตัดไส้ติ่ง" เพื่อลดระยะเวลารอคอยในโรงพยาบาลจังหวัด แต่ถ้าไม่เพิ่มโรงพยาบาล node ก็ต้องเพิ่มจำนวนห้องผ่าตัดและมีความพร้อมของบุคลากรในโรงพยาบาลจังหวัด และมีการกำหนดตัวชี้วัดว่า door to operation ระยะเวลาตั้งแต่ผู้ป่วยถูกส่งตัวมาถึงโรงพยาบาลและได้รับการผ่าตัด ต้องทำภายในระยะเวลากี่ชั่วโมง เช่น 4 หรือ 6 ชั่วโมงก็ร่วมมือกันกำหนดค่าของตัวชี้วัดนี้ เพื่อให้เป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่าย

 

2.  การวินิจฉัยต้องแม่นยำ ต้องการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทุกรายก่อนการผ่าตัด เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่ถูกต้อง ถ้าทางศัลยแพทย์ส่วนใหญ่เห็นว่ามีความจำเป็นก็กำหนดเป็นแนวทางเวชปฏิบัติ หรือ clinical practice guideline ไปเลยครับ ปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการตรวจ CT scan นั้นถูกมากๆ บางโรงพยาบาลต้นทุนที่ต้องจ่ายให้บริษัทเอกชนเพียง 800 บาทถึง 1000 บาทเท่านั้น บางโรงพยาบาลถูกกว่านี้อีก ผมจึงมองว่าการตรวจเอกซเรย์ช่องท้องเพื่อให้มั่นใจสูงสุดนั้นสามารถทำได้แน่นอน

 

3. ผู้ป่วยทุกรายควรได้รับการผ่าตัดโดยแพทย์ที่มีประสบการณ์เพียงพอ จะเป็นศัลยแพทย์ที่มีประสบการณ์กี่ปีก็กำหนดมา เพื่อที่จะได้เป็นมาตรฐาน แต่ก็ต้องให้เกิดความสมดุลย์กับจำนวนศัลยแพทย์ที่มีอยู่ด้วย

 

4. มีการระดมศัลยแพทย์ในแต่ละจังหวัด แต่ละเขตสุขภาพ เพื่อให้บริการ "ผ่าตัดไส้ติ่ง" โดยจัดเป็นเวรในแต่ละโรงพยาบาล node ที่มี ดังนั้นแพทย์ที่ผ่าตัดนั้นอาจไม่ใช่แพทย์ของโรงพยาบาล node ก็ได้เป็น แพทย์จากทุกโรงพยาบาลที่มีประสบการณ์ในการผ่าตัดไส้ติ่ง และมีความสนใจยินดีที่จะร่วมให้การบริการ "ผ่าตัดไส้ติ่ง"

 

5. รัฐจ่ายค่าตอบแทนที่เหมาะสมให้ทีมผู้ให้การรักษา ทีมแพทย์ผ่าตัด ทีมแพทย์ดมยาสลบ และพยาบาล

 

6. รัฐต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ว่า การ "ผ่าตัดไส้ติ่ง" ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลจังหวัดเท่านั้น สามารถผ่าตัดที่โรงพยาบาล node กับศัลยแพทย์ที่มีประสบการณ์ได้ เหมือนที่ stroke fast track ทำให้ประชาชนเข้าใจถูกต้องว่าต้องรีบให้รับการรักษาที่เร็วที่สุดก่อน และหลังจากให้ยาละลายลิ่มเลือดแล้วจะให้ส่งต่อมารักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาลจังหวัดก็สามารถทำได้

 

7. ในระหว่างการฝึกอบรมศัลยแพทย์ต้องเน้นการฝึกอบรมการผ่าตัดไส้ติ่งที่มาพบแพทย์ในทุกรูปแบบให้ดี เพราะเป็นโรคที่พบบ่อย เหมือนอายุรแพทย์ระบบประสาทที่ต้องฝึกอบรมด้านโรคอัมพาตเป็นส่วนใหญ่ จนอายุรแพทย์ระบบประสาททุกคนมั่นใจในการวินิจฉัยรักษาโรคอัมพาตในทุกรูปแบบ

 

8. ท้ายสุดประชาชนต้องเข้าใจในข้อจำกัดทางการแพทย์ว่าเราไม่สามารถรักษาคนไข้ให้หายเป็นปกติได้ทุกคน ถึงแม้จะวินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง ให้การรักษาได้ถูกต้อง และรวดเร็วที่สุดแล้วก็ตาม ผู้ป่วยบางส่วนก็มีอาการรุนแรงเกินกว่าที่จะรักษาให้หายได้ ต้องยอมรับความจริงนี้ และอย่ามองว่าแพทย์ผิดทุกครั้งเมื่อเกิดกรณีที่ผู้ป่วยมีผลการรักษาไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง

 

9. เมื่อเกิดข้อผิดพลาดขึ้นในการให้บริการ โรงพยาบาล ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขต้องเป็นผู้รับผิดชอบ แทนแพทย์ แทนทีมผู้ให้การรักษา และรีบให้ความช่วยเหลือแพทย์หรือทีมผู้ให้การรักษาทันทีอย่างเต็มที่ ไม่ใช่เงียบ ไม่ให้การช่วยเหลือใดๆ แบบที่เป็นในปัจจุบันนี้

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ