ข่าว

"โควิด" ยอดลด ประกาศ ยกเลิก เขตติดโรคติดต่ออันตรายนอกราชอาณาจักร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ยกเลิกเขตติดโรคติดต่ออันตราย "โควิด" นอกราชอาณาจักร และเพิ่ม "ฝีดาษลิง" เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังลำดับที่ 56

หลังแนวโน้ม "โควิด" ทั่วโลกลดลง มีการผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ระบุว่า ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อฯ พิจารณาและเห็นชอบ 2 เรื่อง คือ 

ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยกเลิกท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรค โควิด 19 (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... เนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด 19 ทั่วโลกอยู่ในแนวโน้มลดลง สายพันธุ์ 

นอกจากนี้ โอมิครอน มีความรุนแรงลดลง และทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนแล้วจำนวนมาก ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ที่มีการผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางมากขึ้น โดยคนไทยไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนระบบ Thailand Pass เพียงแสดงข้อมูลการฉีดวัคซีนและผลตรวจ professional-ATK หรือ RT-PCR 

 

ก็พบว่าผู้เดินทางเข้าประเทศวันละหลายหมื่นคน มีผู้ติดเชื้อโควิด 19 น้อยมาก หรือบางวันไม่พบผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศเลย ถือว่ามีความปลอดภัย จึงนำมาสู่การเห็นชอบประกาศยกเลิกเขตโรคติดต่ออันตรายนอกราชอาณาจักร

 

กระทรวงสาธารณสุขยังคงเน้นให้ทุกจังหวัดเตรียมพร้อมเข้าสู่ระยะ Post pandemic สำหรับการกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติของประชาชน โดยดำเนินการตามมาตรการ “2U” คือ Universal Prevention และ Universal Vaccination โดยให้กลุ่มเสี่ยง 608 คือผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี และโรคเรื้อรังรับวัคซีนเข็มกระตุ้นมากกว่า 60% และมาตรการ 3 พอ คือ เตียงพอ หมอพอ และยาเวชภัณฑ์พอ

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบ ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่อ
ที่ต้องเฝ้าระวัง (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... โดยเพิ่มชื่อโรคฝีดาษวานรหรือ "ฝีดาษลิง" (Monkeypox) เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังลำดับที่ 56 ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการด้านวิชาการที่ประชุมหารือเรื่องนี้เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ โรคฝีดาษวานรยังแพร่ระบาดในต่างประเทศ ประเทศไทยมีการเฝ้าระวังยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อในประเทศไทย โดยกรมควบคุมโรคได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (EOC) กรณีโรคฝีดาษวานร และเตรียมความพร้อมเสริมมาตรการคุมเข้ม ทั้งที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศที่สนามบินนานาชาติ และสั่งการโรงพยาบาลในสังกัดรัฐและเอกชน เตรียมพร้อมเฝ้าระวัง สังเกตอาการกลุ่มเสี่ยง และส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดเชื้อ ฝีดาษลิง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ