ตอกย้ำ"สหกิจศึกษา"เข้มแข็ง "ม.วลัยลักษณ์"กวาด 3 รางวัลระดับชาติ
ปรับระบบ"สหกิจศึกษา"เป็น 8 เดือน สถานประกอบการได้ประโยชน์ นักศึกษาเรียนจบมีงานทำเพิ่มขึ้น ตอกย้ำความเข้มแข็งทำให้"ม.วลัยลักษณ์"กวาด 3 รางวัลสหกิจศึกษาดีเด่นระดับชาติ ในงาน CWIE Day ครั้งที่ 12
ความรู้ภายในห้องเรียนไม่ตอบโจทย์โลกการมีงานทำอีกต่อไป เมื่อ "มหาวิทยารัฐ" หลายแห่งขยับปรับเปลี่ยน การเรียนรู้คู่ลงมือปฏิบัติจริงผ่านระบบ “สหกิจศึกษา” ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากสถานประกอบการ ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้
โดยเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 ผศ.ดร.ผดุงศักดิ์ สุขสอาด รักษาการแทนรองอธิการบดีในฐานะผู้กำกับดูแลศูนย์สหกิจศึกษาและพัฒนาอาชีพ ม.วลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า ตนพร้อมทีมศูนย์สหกิจศึกษาฯ ได้เดินทางเข้ารับโล่รางวัลสหกิจศึกษาดีเด่นระดับชาติ จำนวน 3 รางวัล คือ รางวัลประเภทสถานศึกษาดำเนินการสหกิจศึกษาฯดีเด่น รางวัลโครงงานและผลการปฏิบัติงานด้านนวัตกรรมดีเด่น ได้แก่ นายธันวา ทองเกลี้ยง นักศึกษาสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ ไปปฏิบัติสหกิจศึกษา ณ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และประเภทรางวัลสถานประกอบการสหกิจศึกษาขนาดใหญ่ดีเด่น ได้แก่ เครือโรงแรมอนันตรา ภูเก็ต รีสอร์ท เสนอโดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในงานวันสหกิจศึกษาบูรณาการกับการทำงาน (CWIE DAY) ครั้งที่ 12 ประจำปี พ.ศ.2565 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-8 มิถุนายน 2565 ณ ม.บูรพา จ.ชลบุรี
ผศ.ดร.ผดุงศักดิ์ สุขสะอาด กล่าวว่า หลังจากการปรับรูปแบบ “สหกิจศึกษา” เป็น 8 เดือน ทำให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นมหาวิทยาลัยที่ทุกหลักสูตรมีการใช้ CWIE (Cooperative and Work Integrated Education) เพื่อพัฒนาคุณภาพบัณฑิตตามนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.)ในการผลักดัน CWIE Platform และผลจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวทำให้สถานประกอบการได้รับประโยชน์มากขึ้น ทั้งในเรื่องการทำงาน การสร้างองค์ความรู้ การสร้างผลงานวิจัยทางวิชาการร่วมกัน
“ที่สำคัญนักศึกษาและคณาจารย์ในหลักสูตรเอง มีโอกาสร่วมเรียนรู้กับบริษัทและสถานประกอบการต่างๆ มากขึ้นเช่นกัน ทำให้นักศึกษาของม.วลัยลักษณ์มีความพร้อมในการทำงาน ผู้ประกอบการเองมีความพึงพอใจในคุณภาพบัณฑิตของเรา ส่งผลต่อโอกาสการได้งานทำในสถานประกอบการที่ไปปฏิบัติ ”สหกิจศึกษา“เพิ่มมากขึ้นด้วย” ผศ.ดร.ผดุงศักดิ์ กล่าว
ผศ.ดร.ผดุงศักดิ์ กล่าวอีกว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีการเตรียมความพร้อมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนานักศึกษาและคณาจารย์ การปรับหลักสูตรเพื่อให้สอดคล้องกับ “สหกิจศึกษา” และการสร้างความร่วมมือกับสถานประกอบการ ทำให้ทุกกระบวนการส่งเสริมให้นักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กลายเป็นบัณฑิตที่มีทักษะวิชาการและวิชาชีพตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในยุคปัจจุบัน ซึ่งการคว้า 3 รางวัลใหญ่จาก 3 ส่วน คือ สถานศึกษา นักศึกษา และสถานประกอบการดังกล่าวตอกย้ำความเข้มแข็งของระบบสหกิจศึกษาของเรา