ข่าว

ธ.ก.ส. หนุน "เทคโนโลยี" จัดการสวนทุเรียน ยก สวนลุงแกละ ต้นแบบสมาร์ทฟาร์ม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ธ.ก.ส.หนุน "เทคโนโลยีการเกษตร" จัดการสวนทุเรียน ยก สวนลุงแกละ ต้นแบบสมาร์ทฟาร์ม จากภาคการเกษตรเดิมหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน แต่วันนี้ควบคุมการทำงานโดยเครื่องจักรกลจะยกระดับเป็นเกษตรอุตสาหกรรม ทำให้มีรายได้มากกว่าการเป็นพนักงานประจำ

ธ.ก.ส.ได้ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตรในการจัดทำฐานข้อมูลเกษตรกรรุ่นใหม่หรือ "สมาร์ทฟาร์มเมอร์" ทั่วประเทศ ซึ่งข้อมูลจะแบ่งความสนใจว่าใครสนใจเรื่องอะไร ถนัดเรื่องใด เราก็จะให้การสนับสนุนตามความสนใจของเขา เช่นสนใจเรื่อง "เทคโนโลยีการเกษตร" เกษตรแปรรูป เกษตรนวัตกรรมแล้วนำพวกเขามาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน ตามความถนัดของแต่ละคน ทุนเป็นปัจจัยรอง แต่การจัดการความสัมพันธ์เป็นปัจจัยหลักในการยกระดับเป็นผู้ประกอบการในอนาคต

    รองผู้จัดการ ธ.ก.ส.

 

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเกษตรและสหกรณ์การเกษตรหรือ ธ.ก.ส.กล่าวภายหลังลงพื้นที่ดูความสำเร็จโครงการแปลงใหญ่ทุเรียนในต.วังหว้า อ.แกลง และ "สวนทุเรียนลุงแกละ"ในต.วังจันทร์ อ.วังจันทร์ จ.ระยองของนายนิธิภัทร์ ทองอ่อนหรือคุณโอ๋ เกษตรกรรุ่นใหม่ทายาทลุงแกละ 

 

จะเห็นแล้วว่าวันนี้น้อง ๆ เมื่อเทียบกับการทำงานมีค่าตอบแทนเป็นรายเดือนผลลัพธ์เป็นอย่างไร เมื่อเราค้นพบศักยภาพของพื้นที่แล้วประยุกต์องค์ความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา บวกกับภูมิปัญญาของรุ่นพ่อแม่ทำให้ตอบโจทย์ "อาชีพเกษตรของคนรุ่นใหม่" ได้เป็นอย่างดี ภาคการเกษตรเดิมหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน แต่วันนี้อยู่นั่งอยู่บนเก้าอี้ ควบคุมการทำงานโดยเครื่องจักรกลจะยกระดับเป็นเกษตรอุตสาหกรรมทำให้มีรายได้มากกว่าการเป็นพนักงานประจำ นายสมเกียรติ กล่าว

ไม่เพียง "เทคโนโลยีการเกษตร" เท่านั้นที่คนรุ่นใหม่ถวิลหาเพื่อมาใช้ในกระบวนการผลิต ส่วนการตลาดเขาก็ยังมองทะลุ ส่วนใหญ่จะใช้ตลาดนำการผลิต จากเดิมที่มุ่งแต่การผลิตอย่างเดียว แต่วันนี้คนรุ่นใหม่กลับมองหาตลาดก่อนจะมาสู่กระบวนการผลิต 

 

รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. ย้ำว่า การมองตลาดของคนรุ่นใหม่มีหลายระดับ มีทั้งโมเดิร์นเทรด ตลาดออนไลน์ ตลาดต่างประเทศและตลาดท้องถิ่น จากนั้นก็จะมาคัดแยกสินค้าตามความต้องการของตลาดนั้น ๆ ทั้งด้านคุณภาพและราคา ขณะเดียวกันก็จะสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าด้วยการแปรรูปและการออบแบบบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมและสวยงามเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าดังกล่าวด้วย 

นิธิภัทร์ ทองอ่อน เจ้าของสวนทุเรียนลุงแกละ

 

กล่าวสำหรับ นิธิภัทร์ ทองอ่อน เจ้าของสวนลุงแกละนั้น ถือเป็น"สมาร์ทฟาร์มเมอร์" ต้นแบบในการนำ "เทคโนโลยีเครื่องจักรกลทางการเกษตร" มาใช้ในการจัดการสวนทุเรียนเพื่อยกระดับประสิทธิภาพในทุกกระบวนการผลิต

 

หลังจบวิศวกรรมอุตสาหการเข้ามาสานต่ออาชีพการทำสวนทุเรียนของครอบครัวทันที ถึงวันนี้กว่า 8 ปีแล้วที่นำองค์ความรู้จากการร่ำเรียนมาประยุกต์ใช้กับสวนโดยเฉพาะเทคโนโลยีเครื่องจักรกลตามที่เขาถนัดมาใช้บริหารจัดการสวนทุเรียนแทนแรงงานฝีมือที่นับวันหายากขึ้นทุกที ไม่ว่าจะเป็นรถตัดหญ้า รถพ่นสารเคมี รถกระเช้าเก็บเกี่ยวทุเรียน เป็นต้น  

นิธิภัทร์  บอกว่าการใช้ "เทคโนโลยีนวัตกรรม" มาบริการจัดการสวนทุเรียนนั้นจะช่วยประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่ทำลายสุขภาพและที่สำคัญยังทำให้การบริหารจัดการสวนมีประสิทธิภาพส่งผลให้ผลผลิตมีคุณภาพตามมาด้วย
           

ถ้าจ้างคนงานตัดหญ้า ฉีดพ่นสารในสวนอาจใช้เวลาหลายวัน แต่ใช้รถตัดหญ้าและฉีดพ่นสารวันเดียวก็เสร็จ ไม่ต้องจ้างคนงาน ทำเองได้แล้ว จะมีเวลาเหลือไปทำอย่างอื่นได้ เขากล่าวถึงข้อดีในการใช้เครื่องจักรกลในการจัดการสวนทุเรียนกว่า 80 ไร่ จากเดิมจ้างคนงานหลายสิบคน มาวันนี้มีเขาเพียงคนเดียวกับ "เครื่องจักรกลการเกษตร" คู่ใจ เพราะกระบวนการผลิตในเกือบทุกขั้นตอนจะใช้เทคโนโลยีเข้ามาดำเนินการแทบทั้งสิ้น

 

ไม่เพียงแต่เทคโนโลยีเครื่องจักรกลทางการเกษตรเท่านั้นที่มาช่วยบริหารจัดการสวนทุเรียน ส่วนตัวเขาเองก็จะต้องเข้าใจในตัวตนของ ราชาผลไม้อย่างทุเรียนเป็นอย่างดีด้วยถึงจะอยู่รอดได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ปุ๋ย ใช้ยาจะต้องเหมาะสม โดยสวนลุงแกละจะใช้ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอผสมกับปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดต้นทุน  

 

นอกจากนี้น้ำก็มีส่วนสำคัญอย่างมากในการดูแลต้นทุเรียน เนื่องจากทุเรียนเป็นไม้ผลที่ต้องการน้ำมากเฉลี่ยประมาณ 300 ลิตรต่อวัน โดยเฉพาะช่วงที่ให้ผลผลผลิตหากน้ำมีไม่เพียงพอก็จะส่งทำให้ดอกร่วงและผลลีบได้  

 

น้ำสำคัญที่สุด น้ำจะขาดไม่ได้เลยเหลือได้แต่ห้ามขาด ถ้าขาดถ้าแล้งช่วงออกลูกจะทำให้ลูกไม่โต เสี่ยงต้นตายได้ อย่างไรน้ำขอให้มีเหลือมากกว่าขาด  ปีนี้คิดว่าทรหดที่สุดเท่าที่ทำทุเรียนมา เจ้าของสวนทุเรียนลุงแกละกล่าว

 

พร้อมฝากไปยังคนรุ่นใหม่ที่ต้องการกลับมาทำอาชีพการเกษตรว่าไม่ได้เป็นภาพแบบเดิม ๆ อย่างที่เคยเห็น ทุกวันนี้การประกอบอาชีพเกษตรมีความทันสมัยมากขึ้น มี "เทคโนโลยี" เข้ามาช่วยจัดการ จึงอยากให้คนรุ่นใหม่เข้ามาขับเคลื่อนภาคการเกษตรมากขึ้นเพราะจะทำให้ภาคเกษตรมีความมั่นคงยั่งยืนและจะทำให้วงการเกษตรไทยไปได้ดีอีกด้วย 
                                                               
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ