ข่าว

วาง 3 ข้อแก้ปัญหา "ปลิงเข็ม" ชุม ที่แก่งกระจาน จนท.ยันไม่อันตรายไม่ดูดเลือด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อำเภอแก่งกระจาน วาง 3 แนวทางแก้ปัญหา "ปลิงเข็ม" ชุกชุม ด้านประมงอำเภอ ยืนยันไม่เป็นอันตราย ไม่ดูดเลือด หลังมีคลิปแพร่ในโลกโซเชียลผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ นักท่องเที่ยวหวาดกลัวยกเลิกห้องพักในพื้นที่

2 มิ.ย.256  จากกรณีมีนักท่องเที่ยวพบ "ปลิงเข็ม"  หรือ "หนอนน้ำ" ขณะมาท่องเที่ยวในพื้นที่อำเภอแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และมีการโพสต์คลิปลงในแอปฯ  TikTok จนมีสื่อมวลชนนำคลิปนี้ไปเสนอข่าวและให้ข้อมูลว่า เป็นลูกปลิงควาย ดูดเลือดนักท่องเที่ยวจนทำให้การท่องเที่ยวในพื้นที่ได้รับผลกระทบ มีนักท่องเที่ยวที่จองที่พักแจ้งยกเลิกที่พักจำนวนมาก จนทำให้ผู้ประกอบการเดือดร้อนเพราะมีการนำเสนอข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจนนักท่องเที่ยวเกิดความหวาดกลัว จึงขอให้ทางอำเภอแก่งกระจานออกมาชี้แจงและแก้ไข 

 

 

ภาพ TikTok manit191

 

โดยเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อประมาณ  3-4 ปี ที่ผ่านมา ทางประมงอำเภอ และอำเภอแก่งกระจานได้ลงพื้นที่ไปแก้ไข จนเรื่องดังกล่าวเงียบหายไป และเพิ่งจะกลับมาพบการแพร่ระบาดชุกชุมอีกครั้ง

 

 

 

แก่งกระจานเร่งแก้ปัญหา "ปลิงเข็ม"

 

ล่าสุดนายสุทิน ประเสริฐศักดิ์ นายอำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว ว่า ได้วางแนวทางการแก้ไขปัญหา "ปลิงเข็ม" หรือ "หนอนน้ำ" ไว้ 3 แนวทาง คือ 

1.ได้ประสานกับ นายมีชัย ปฏิยุทธ ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแก่งกระจาน เพื่อให้ปิดการระบายน้ำ ระหว่างเวลา       06.00-18.00 น. เพื่อให้น้ำแห้ง เป็นการตากดินในส่วนแม่น้ำที่ลดปริมาณลง จะทำให้ปลิงตาย 

2. ระดมกำลังทั้งหน่วยราชการ และภาคเอกชน รวมทั้งชาวบ้าน ใช้ปูนขาว โปรยลงริมตลิ่งของแม่น้ำเพชรบุรี และในท้องน้ำ ตั้งแต่ท้ายเขื่อน ในตำบลแก่งกระจาน จนถึงตำบลสองพี่น้อง 

 

แก่งกระจานเร่งแก้ปัญหา "ปลิงเข็ม"

 

3. ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยผูกต้นมะละกอ ไว้ในแม่น้ำเพชรบุรี เพื่อให้ปลิงเข็ม มาเกาะและดูดยางมะละกอ ซึ่งมีสภาพเป็นด่าง ปลิงก็จะตายเอง

 

 

วาง 3 ข้อแก้ปัญหา "ปลิงเข็ม" ชุม ที่แก่งกระจาน จนท.ยันไม่อันตรายไม่ดูดเลือด

 


     
ทั้งนี้ ข้อมูลมาจาก ประมงอำเภอแก่งกระจานว่า "ปลิงเข็ม" หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "หนอนน้ำ" จะพบมากในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ – พฤษภาคม ในบริเวณน้ำนิ่งและจะหมดไปตามธรรมชาติ อีกทั้ง ปลิงเข็มหรือหนอนน้ำ จะแค่เกาะตามผิวหนัง โดยจะไม่มีการดูดเลือด และไม่เป็นอันตรายเพียงแค่สร้างความรำคาญบริเวณผิวหนัง

 

กรณี ถูกปลิงเข็มหรือหนอนน้ำเกาะบริเวณผิวหนัง ให้ใช้น้ำมะนาว มะกรูด หรือยาเส้นผสมน้ำ ราดไปบนตัวปลิงเข็มก็จะหลุดออก หรือปล่อยให้ผิวหนังแห้ง ก็สามารถหลุดออกได้  จากนั้นใช้แอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาดบนผิวหนัง

 

 

 

แก่งกระจานเร่งแก้ปัญหา "ปลิงเข็ม"

 

 

นอกจากนี้ นายอำเภอแก่งกระจาน ยังได้เน้นย้ำ ให้ผู้ประกอบการทุกแห่งจัดทำป้ายเตือนประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวทราบและเข้าใจ ว่าปลิงเข็มไม่ได้อันตรายอย่างที่หลาย ๆ คนคิด และ ปลิงเข็มหรือหนอนน้ำจะอาศัยในน้ำสะอาดไม่มีความเป็นกรดหรือด่าง เป็นตัวชี้วัดคุณภาพน้ำอย่างหนึ่ง ทำให้แสดงให้เห็นว่าน้ำจากเขื่อนแก่งกระจานเป็นน้ำสะอาดและมีคุณภาพที่ดี
     

ด้าน ผู้ประกอบการรีสอร์ท รายหนึ่ง เปิดเผยว่า เรื่องนี้ทางผู้ประกอบการและอำเภอแก่งกระจานไม่ได้นิ่งนอนใจ เร่งแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เพราะแม้จะไม่มีอันตรายแต่เพื่อความปลอดภัยต่อนักท่องเที่ยวและความสบายใจเราได้รีบแก้ไขปัญหานี้ทันที  เช่นเดียวกับ เจ้าของกิจการรีสอร์ทอีกราย ได้ออกมาให้ความมั่นใจกับนักท่องเที่ยวให้มีความมั่นใจได้ว่า เรื่องที่เกิดเป็นเรื่องทางธรรมชาติ ที่เราสามารถป้องกันได้และได้แก้ไขปัญหาเรื่องนี้แล้ว ขอให้นักท่องเที่ยวมั่นใจได้ว่า จะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี เพราะเรามีการแก้ปัญหาทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว จนขณะนี้แทบไม่พบ "ปลิงเข็ม" หรือ "หนอนน้ำ" อีกเลย

 

 

ขอบคุณภาพ TikTok manit191

สุรพล  นาคนคร จ.เพชรบุรี 
 

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ