ข่าว

"ฝีดาษลิง" เช็คเลยรอยแผลบนหัวไหล่ แบบไหน ปลูกฝี แล้ว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ฝีดาษลิง" Monkeypox "หมอเฉลิมชัย" แนะสำรวจ รอยแผลเป็นบนหัวไหล่แบบไหน ปลูกฝี มาแล้ว และอีก 2 ประการหลัก ป้องกันได้

อัปเดตสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรค "ฝีดาษลิง" ที่ขณะนี้กระจายแล้ว 27 ประเทศ ขณะที่ประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อเปลี่ยนเครื่อง ขณะเดินทางไปประเทศออสเตรเลีย1 ราย และอยู่ระหว่างเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง 12 ราย ขณะที่ประเด็นการปลูกฝี ป้องกันฝีดาษลิง ยังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากการปลูกฝีนั้น ไม่ได้มีเฉพาะแค่ป้องกันฝีดาษลิงเท่านั้น แต่ยังใช้สำหรับป้องกันโรคอื่นด้วย ทำให้เรื่องของวัคซีน กำลังเป็นที่สนใจ และตั้งคำถามว่า แผลเป็นที่อยู่บนหัวไหล่แบบไหน ที่ผ่านการปลูกฝีมาแล้ว

 

 

 

 

(31 พ.ค.2565) "หมอเฉลิมชัย" หรือ นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย หัวข้อ ทำอย่างไรจึงจะทราบว่า ตนเองเคยปลูกฝีป้องกันฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษแล้ว ระบุว่า จากที่ขณะนี้ ทั่วโลกพบผู้ป่วย "ฝีดาษลิง" (Monkeypox) แล้วมากกว่า 20 ประเทศ มีจำนวนผู้ติดเชื้อยืนยันมากกว่า 300 คน ทำให้เกิดความตระหนัก และบางคนไปถึงขั้นวิตกกังวล เพราะการติดเชื้อครั้งนี้เป็นการติดกันเองภายในประเทศแล้วนั้น

 

 

จากการที่ผู้ติดเชื้อไม่มีประวัติเดินทางไปแอฟริกา ไม่มีประวัติสัมผัสเสี่ยงกับสัตว์ที่เป็นแหล่งของเชื้อ เช่น ลิง กระรอก กระต่าย หนู เป็นต้น ทำให้องค์การอนามัยโลกได้มีการประชุมด่วน และกระทรวงสาธารณสุขหลายประเทศ ได้ตั้งคณะกรรมการฉุกเฉินเพื่อเข้ามาดูแลเกี่ยวกับเรื่องฝีดาษลิงแล้วในขณะนี้

"หมอเฉลิมชัย" ระบุว่า แต่ที่พอจะเบาใจได้บ้างในเบื้องต้นก็คือ วัคซีนป้องกันฝีดาษคน หรือไข้ทรพิษ (Smallpox) ที่เราเรียกว่าการปลูกฝีนั้น สามารถข้ามมาป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ด้วย ประกอบกับมีงานวิจัยยืนยันว่า ผู้ที่เคยฉีด หรือปลูกฝีป้องกันฝีดาษคน จะมีระดับภูมิคุ้มกันที่สูงพอป้องกันโรคได้จนถึงปัจจุบัน (มีครึ่งชีวิตของวัคซีนยาวนานถึง 92 ปี)

 

ฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษ ได้หมดไปจากโลกเรา โดยการประกาศขององค์การอนามัยโลกในปี 2523 ส่วนประเทศไทยเราไม่มีไข้ทรพิษมาตั้งแต่ปี 2517 นั่นคือประเทศไทยเริ่มทยอยเลิกปลูกฝีตั้งแต่ปี 2517 และทั่วโลกเลิกปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษตั้งแต่ปี 2523

 

หลักสังเกตว่าตนเองเคยปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษแล้วหรือไม่อย่างไร ได้แก่

 

  1. ถ้าเป็นคนอายุมากกว่า 48 ปี ที่เกิดก่อนปี 2517 มีโอกาสสูงที่จะเคยปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการระดมปลูกฝีในช่วงนั้นเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ฝีดาษหมดไปจากประเทศไทย ส่วนใหญ่จะฉีดกันที่โรงเรียน
  2. ถ้าอายุน้อยกว่า 42  ปี คือเกิดหลังปี 2523 ถือว่าไม่เคยได้รับการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษมาก่อน
  3. กรณีผู้ที่อายุ 43-47 ปี คือเกิดก่อนปี 2523 แต่เกิดหลังปี 2517 เป็นช่วงก้ำกึ่ง จะต้องตรวจดูแผลเป็นต่อไป
  4. ในการตรวจสอบแผลเป็น ซึ่งส่วนใหญ่จะฉีดที่ต้นแขนซ้าย


ในกรณีที่เป็นการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ แผลเป็นจะเป็นลักษณะแผลแบนเรียบ หรือเป็นหลุมลงไปเล็กน้อย แต่ถ้าเป็นการปลูกฝีป้องกันวัณโรคที่เรียกว่า BCG แผลเป็นนั้นจะนูนขึ้นมา


ดังนั้น การตรวจสอบว่าตนเองเคยปลูกฝีป้องกันฝีดาษคน/ไข้ทรพิษหรือยัง ก็ใช้หลักสองประการดังกล่าวคือ ดูว่าเกิดก่อนปี 2517 และตรวจสอบว่าแผลเป็นที่เกิดขึ้น เป็นแผลที่เรียบหรือเป็นหลุมลงไปเล็กน้อย ก็ถือว่าเคยปลูกฝีป้องกันฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษแล้ว

ปลูกฝี

 

 

ที่มา : ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ