ข่าว

ปอกเปลือก "บอร์ดเกม" ที่ให้มากกว่า ความสนุก จริงหรือ

27 พ.ค. 2565

อักษร เอ็ดดูเคชั่น ชวน ครู ผู้ปกครอง และเด็ก ร่วมกันปอกเปลือก "บอร์ดเกม" เล่นเพลิน ๆ เรียนรู้ สนุกได้ในทุกวิชา จริงหรือ

อักษร เอ็ดดูเคชั่น ผู้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ และนวัตกรรมทางด้านการศึกษาแบบครบวงจร ร่วมกับ สถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park ชวนครู ผู้ปกครอง และเด็ก ๆ ร่วมสนุกและเรียนรู้ผ่าน บอร์ดเกม จัดงานเสวนา Talkknowlogy ภายใต้แนวคิด Board Game Play to Learn เล่นเพลิน ๆ Learn รู้ สนุกได้ในทุกวิชา ผ่านมุมมอง 3 แขกรับเชิญสำคัญที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์ตรง

 

ทั้งนักออกแบบบอร์ดเกม ครู และผู้ปกครอง ที่มีประสบการณ์ตรงในการนำบอร์ดเกมไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ (Game-based Learning) ทั้งในห้องเรียน และที่บ้าน พร้อมกันนี้ในงานยังได้มีการจัดกิจกรรม Workshop แนว Family Coding Day เล่นเพลินกับ บอร์ดเกม กิจกรรมการเรียนรู้ในรูปแบบ Unplugged Coding ที่เน้นสร้างความสนุกสนานไปพร้อม ๆ กับกระตุ้นการเรียนรู้ เชื่อมโยงไปสู่การโค้ดดิ้ง (Coding) ทักษะสำคัญแห่งโลกอนาคต ณ สถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

ปอกเปลือก \"บอร์ดเกม\" ที่ให้มากกว่า ความสนุก จริงหรือ

ทั้งนี้ในช่วงของการเสวนา นายพนม ศิริมงคลสกุล ผู้ปกครองและเจ้าของร้านเกมลานละเล่น กล่าวว่า การให้เด็กเล่ม บอร์ดเกม ตั้งแต่ยังเล็กช่วยในการสร้างสมาธิ อดทนรอคอย ฝึกการฟังในเรื่องของกติกาของเกมให้เข้าใจ ซึ่งส่งผลต่อการเรียนในห้องเรียนที่ช่วยให้เด็กสามารถจับใจความได้ดีขึ้น พอเริ่มชำนาญในเกมนั้น ๆ ก็ต่อยอดด้วยการเปลี่ยนให้เด็กกลายมาเป็นผู้สอน จนเกิดเป็นความมั่นใจและภูมิใจในตัวเอง อีกทั้งผู้ปกครองและเด็กได้ใช้เวลาเล่นและเรียนรู้ร่วมกัน เกิดเป็นช่วงเวลาคุณภาพที่มีค่าในความรู้สึกของตัวเด็กเองและครอบครัวอีกด้วย

ปอกเปลือก \"บอร์ดเกม\" ที่ให้มากกว่า ความสนุก จริงหรือ

 

ด้านน.ส.ธมลวรรณ แช่มช้อย ครูผู้ชนะโครงการพัฒนาแนวคิดเชิงคำนวณโดยใช้เกมเป็นฐาน Game-Based Learning กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เข้าใจว่าการเล่นเกมนั้นให้แค่ความสนุกและผ่อนคลาย ซึ่งหลังจากที่ได้เข้ารับการอบรมและทดลองนำบอร์ดเกมไปใช้ในห้องเรียนแล้วนั้น มองว่าในความเป็นจริงแล้วบอร์ดเกมให้อะไรที่มากกว่านั้น ช่วยให้เด็กได้ทักษะการคิดวิเคราะห์ วางแผนแบบมีลำดับขั้นตอน รู้จักการแก้ไขปัญหา ทำงานร่วมกันเป็นทีมเล่นได้จนจบและไปสู่ชัยชนะ

ปอกเปลือก \"บอร์ดเกม\" ที่ให้มากกว่า ความสนุก จริงหรือ

 

พร้อมกับได้พัฒนาฝึกฝนตนเองไปเรื่อย ๆ ซึ่งก่อนเริ่มเล่นเราสามารถสร้างแรงจูงใจ พร้อมใส่จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ลงไปด้วยได้ ถ้าหากเด็กเข้าใจในทักษะกระบวนการมากกว่าการท่องจำแล้ว เค้าจะสามารถแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ต้องเจอได้ จนเกิดเป็นการเรียนรู้อย่างมีความหมาย และเป็นความรู้ที่คงทน

นายพีรัช ษรานุรักษ์ นักออกแบบพัฒนาเกมในนาม Wizards of Learning กล่าวว่า หลักสำคัญในการออกแบบพัฒนาเกมเพื่อการเรียนรู้คือ สร้างความสนุกและเกิดเป้าหมายในการเรียนรู้ ด้วยการสร้างสถานการณ์จำลองผ่านการเล่น บอร์ดเกม เด็กเกิดการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ ผ่านการผิดพลาด พร้อมทั้งสอดแทรกกระบวนการคิด การวางแผน และการแก้ปัญหาเข้าไปด้วย

 

อีกทั้งเป็นเครื่องมือช่วยครูสอนที่น่าสนใจ และที่สำคัญนอกเหนือจากความรู้ที่เด็กได้รับนั้น ยังเป็นการช่วยสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ในห้องเรียนและปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนให้ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น ครูสามารถมองเห็นพัฒนาการของเด็กได้อย่างชัดเจน


พร้อมกันนี้ในช่วงบ่ายยังได้มีการจัดกิจกรรม Workshop แนว Family Coding Day เล่นเพลินกับบอร์ดเกม กิจกรรมการเรียนรู้ในรูปแบบ Unplugged Coding เพื่อสร้างพื้นฐานในการต่อยอดสู่การเริ่มต้นเรียนโค้ดดิ้ง โดยชวนน้อง ๆ จับคู่คุณพ่อหรือคุณแม่มาสนุกกับการเล่นบอร์ดเกม Code-to-Learn สร้างความเข้าใจคอนเซ็ปต์เรื่องการโค้ดดิ้ง เชื่อมโยงแนวคิดสู่ทักษะการโค้ดผ่านภารกิจกอบกู้เมืองแห่งโค้ดกับเหล่า Coding Heroes ทั้ง 5 แปลงแนวคิดนามธรรมของการโค้ดดิ้งให้เป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ เข้าใจง่าย

ปอกเปลือก \"บอร์ดเกม\" ที่ให้มากกว่า ความสนุก จริงหรือ

 

เป็นสะพานเชื่อมโยงความรู้ไปสู่การเรียนโค้ดดิ้งแบบ Block-based Programming เด็กซึมซับหลักการเขียนโปรแกรมอย่างง่าย จดจำการใช้งานคำสั่งพื้นฐานผ่านการปฏิบัติภารกิจในเกมอย่างสนุกสนาน กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ สร้างเจตคติที่ดี ทำให้เด็กเข้าใจเรื่องที่ซับซ้อนได้ง่ายยิ่งขึ้น และช่วยพัฒนาส่งเสริมให้เด็กเกิดทักษะ 4Cs ได้แก่

 

ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณและทักษะในการแก้ปัญหา (Critical Thinking and Problem Solving) ทักษะด้านการสื่อสาร สารสนเทศและรู้เท่าทันสื่อ (Communication Information and Media Literacy) ทักษะด้านความร่วมมือการทำงานเป็นทีมและภาวะผู้นำ (Collaboration Teamwork and Leadership) ทักษะด้านการสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Creativity and Innovation) ซึ่งเป็นทักษะจำเป็นที่สำคัญสำหรับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21