ข่าว

ไทยพร้อมรับมือคัดกรอง "ฝีดาษลิง" ผ่านระบบ Thailand Pass

"ฝีดาษลิง" ติดเชื้อเพิ่มเป็น 22 ประเทศแล้ว ไทยรับมือคัดกรองผ่านระบบ Thailand Pass สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศ

อัปเดตสถานการณ์โรคฝีดาษวานร หรือ ฝีดาษลิง ล่าสุดมีรายงานผู้ติดเชื้อใน 22 ประเทศ ประเทศที่เพิ่มมาคือ โมร็อกโก สกอตเเลนด์ สาธารณรัฐเช็ก สโลวาเกีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมทั้งจำนวน 309 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุ 20-59 ปี มักจะเเพร่เชื้อได้เมื่อมีอาการเเล้ว และยังไม่พบผู้ติดเชื้อในไทย 


ไทยพร้อมรับมือคัดกรอง \"ฝีดาษลิง\" ผ่านระบบ Thailand Pass

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า ขณะนี้ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กรมควบคุมโรค โดยกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค เริ่มให้บริการคัดกรองโรคฝีดาษลิงสำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ ผ่านระบบ Thailand Pass ซึ่งจะช่วยให้ตรวจจับกลุ่มเสี่ยงได้รวดเร็วขึ้น และป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศ หลังพบการแพร่ระบาดในหลายประเทศ และสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ 

การเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิงภายในประเทศ คือ เน้นการติดตามเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ประเทศในแถบทวีปแอฟริกากลาง เช่น ไนจีเรีย และคองโก และประเทศในยุโรปที่มีการแพร่ระบาดภายในประเทศแล้ว ซึ่งเมื่ออยู่ที่สนามบินในประเทศต้นทางอาจจะยังไม่แสดงอาการ แต่เมื่อมาถึงประเทศไทยอาจมีอาการได้ ซึ่งการคัดกรองจะดูว่ามีไข้ตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียส หรือประวัติมีไข้ร่วมกับมีอาการหนึ่งอาการ ได้แก่ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง และต่อมน้ำเหลืองโต ประกอบกับมีผื่นกระจายตามลำตัว มีลักษณะเป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง หรือตุ่มตกสะเก็ด และเดินทางมาจากหรืออาศัยอยู่ใน ประเทศที่มีการรายงานการระบาดของโรคฝีดาษลิงในประเทศภายใน 21 วัน พร้อมทั้งแจกบัตรเตือนสุขภาพ (Health beware card) เป็น QR code ให้ผู้ที่มีอาการดังกล่าวสแกนเข้าระบบเพื่อรายงานอาการป่วย ซึ่งหลัก ๆ ในบัตรจะระบุว่าหากมีอาการ เช่น ไข้ มีตุ่มให้รายงานเข้าระบบและรีบไปพบแพทย์ในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด รวมถึงแจ้งประวัติการเดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยงให้เจ้าหน้าที่ทราบด้วย

 

สำหรับการป้องกันโรคฝีดาษลิง ให้ปฏิบัติ ดังนี้ 

 

1) กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที  

 

2) ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการคัดกรอง และทำการแยกกักเพื่อมิให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ  

 

3) หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า  

 

4) หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ  

 

5) หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือ เจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422 
 

ข่าวยอดนิยม