ข่าว

วอนผู้ว่าฯ"ชัชชาติ"ช่วยดูแล"ค่าเช่าบ้านครู"สังกัด กทม.

02 มิ.ย. 2565

ประธานชมรมครูสังกัดกรุงเทพมหานครออนไลน์ วอนผู้ว่าฯ"ชัชชาติ"สร้างคุณภาพชีวิตครูกทม.กว่า 14,000 ชีวิต ให้ดีกว่าเดิมส่วนมากยังต้องแบกรับ"ค่าเช่าบ้านครู"ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพสูง

ปฏิเสธไม่ได้ รศ.ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่ากทม.คนใหม่ ได้สร้างรอยยิ้มและความหวังให้กับคนกรุงเทพมหานคร ในทุกภาคส่วน รวมทั้ง “ครูกทม.” ก็มีความหวังว่าจะมีบ้านพักครู หรือ ค่าเช่าบ้านครู เพื่อเป็นสวัสดิการให้กับข้าราชการครู ย่อมดีต่อขวัญกำลังใจของครู ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวในเรื่องจากตัวแทนของครูในสังกัดกรุงเทพมหานคร(ครูกทม.) 

 

นายไกรทอง กล้าแข็ง ประธานชมรมครูสังกัดกรุงเทพมหานครออนไลน์ เปิดเผย “คมชัดลึกออนไลน์” ว่า ทางชมรมครูฯ ติดตามเรื่องบ้านพักครู และ ค่าเช่าบ้านครู มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปี 2565 แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ หลังยื่นเรื่องนี้ผ่านหลายหน่วยงาน ไล่มาตั้งแต่อดีตผู้ว่ากทม. ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาฯ สภาผู้แทนราษฎร ล่าสุดทราบมาว่าเรื่องถูกส่งมาที่สำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว

“ผมไม่มั่นใจว่านายกรัฐมนตรี จะดำเนินการช่วยเหลือครูกทม.หรือจะส่งเรื่องกลับมาที่ต้นสังกัดคือกรุงเทพมหานคร เมื่อเรามีผู้ว่ากทม.คนใหม่ อย่างอาจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แล้ว พวกผมและเพื่อนครู เริ่มมีความหวังมากขึ้น ผู้ว่ากทม.มีนโยบายด้านการศึกษามากมาย วิงวอนขอให้ช่วยสร้างคุณภาพชีวิตครูกทม.ให้ดีขึ้น จะเป็นกลไกในการผลักดันนโยบายการศึกษากทม.สู่ความสำเร็จได้”

 

ค่าเช่าบ้านครู อาจมีแรงดึงดูดใจให้คนอยากเป็นครูกทม.หรือไม่ อาจจะไม่สำคัญ ความสำคัญอยู่ที่มีสวัสดิการให้ครู และตนมีความเชื่อลึก ๆ ว่า ส่วนหนึ่งโอนย้ายกลับภูมิลำเนาเพื่ออยู่กับบิดามารดาและบุตรหลาน แต่ส่วนหนึ่งอาจจะดึงคนเก่ง ๆ และขยันให้อยู่กับ กทม.ได้ต่อไป

ปัจจุบัน ครูกทม.ประมาณ14,000 คน ไม่ใช่ทุกคนจะมีบ้านของตัวเอง ส่วนมากเช่าบ้านจึงขอวิงวอนเรียกร้องผู้ว่ากทม.พิจารณาข้อเสนอทางออกเรื่องบ้านพักครูใน 3 แนวทางดังนี้

 

  • 1.ค่าเช่าบ้านครู ควรจัดสรรให้ครูกทม.ที่ไม่มีบ้านพักครูหรือไม่มีที่อยู่อาศัย ราคาอิงกับสภาวะเศรษฐกิจ หรือประมาณ3,000-6,000 บาทต่อเดือน

 

  • 2.จัดโครงการบ้านดอกเบี้ยต่ำคงที่ จะทำให้ครูกทม.มีบ้านเป็นของตัวเอง

 

  • 3.ครูกทม.ที่ได้สิทธิบ้านพักครูแล้ว ต้องไม่ได้รับเงินค่าเช่าบ้านครู


“ส่วนตัวผมเสนอว่าควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านให้ครอบคลุมข้อเท็จจริงที่ข้าราชการครูสังกัดกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ที่มีภูมิลำเนาในต่างจังหวัดเป็นส่วนใหญ่ โดยมารับราชการอยู่ในกรุงเทพมหานคร แต่ไม่มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้าน”