ข่าว

ดร.อนันต์ เผยแล้ว "ฝีดาษลิง" ใช้วัคซีนตัวไหน พบไวรัสมีขนาดใหญ่กว่าโควิด

"ดร.อนันต์" ระบุแล้ว "ฝีดาษลิง" ใช้วัคซีนตัวไหน พบไวรัสมีขนาดใหญ่กว่าโควิดหลายเท่า การพัฒนาวัคซีนจึงยากกว่า

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ไบโอเทค โพสต์เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana เปิดเผยว่า "โรคฝีดาษลิง" Monkeypox virus (MPXV) เป็นไวรัสขนาดใหญ่ ใหญ่กว่า SARS-CoV-2 ของโควิด-19 มากหลายเท่า ในขณะที่ SARS-CoV-2 ใช้โปรตีนหนามสไปค์เป็นโปรตีนเดี่ยวๆ ในการจับกับโปรตีนตัวรับเข้าสู่เซลล์ การพัฒนาวัคซีนแบบใช้โปรตีนสไปค์เป็นตัวกระตุ้นภูมิสร้างแอนติบอดีมายับยั้งกระบวนการดังกล่าวจึงตรงไปตรงมา

 

ดังนั้น วัคซีนโควิด ไม่ว่าจะเป็น mRNA, viral vector หรือ subunit vaccine ต่างมุ่งที่จะใช้สไปค์เป็นแอนติเจนหลักของวัคซีน และ แอนติบอดีต่อสไปค์ที่สร้างขึ้นเพียงพอต่อการป้องกันโรคโควิดได้

 

แต่สำหรับ MPXV เราไม่ได้มีโปรตีนเดี่ยวๆ อย่างสไปค์ของ SARS-CoV-2 เพื่อมาพัฒนาเป็นวัคซีน เนื่องจากไวรัสมีขนาดใหญ่ใช้โปรตีนหลายตัวมากในการเข้าสู่เซลล์และเพิ่มจำนวนในเซลล์ และยังมีโปรตีนอีกหลายชนิดที่ยังไม่มีองค์ความรู้ว่ามีหน้าที่อย่างไร การจะพัฒนาวัคซีน MPXV ด้วยเทคโนโลยีเดียวกับวัคซีนโควิดจึงทำไม่ได้ และเชื่อว่าแอนติบอดีจากโปรตีนเดี่ยวๆ ไม่เพียงพอต่อภูมิคุ้มกัน จำเป็นต้องใช้ภูมิที่เหมือนกับการติดเชื้อจากธรรมชาติ โดยเฉพาะ T cell ที่จำเพาะต่อโปรตีนจำนวนมากที่ไวรัสสร้างขึ้นหลังจากติดเชื้อ

 

วัคซีนสำหรับ MPXV คือ วัคซีนตัวเดียวกับที่ใช้ป้องกัน smallpox หรือ ไข้ทรพิษในคน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเก่าแก่ที่สุด หลักการเดียวกับที่ Edward Jenner บิดาของเทคโนโลยีวัคซีน ที่ใช้ไวรัส cowpox มาปลูกฝีให้เด็กเพื่อป้องกันฝีดาษ โดยวัคซีนของ MPXV ใช้ไวรัสที่ชื่อว่า Vaccinia ซึ่งเชื่อว่ามีความใกล้เคียงกับ cowpox ที่ Jenner ใช้ แต่แยกมาจากม้า ด้วยคุณสมบัติของ Vaccinia ที่ไม่ก่อให้เกิดโรครุนแรงในคนที่มีภูมิคุ้มกันปกติ

 

จึงมีการพัฒนามาเป็นไวรัสเชื้อเป็นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันการติดเชื้อ smallpox เป็นเวลาต่อมา คือ การปลูกฝีที่ทำกันในสมัยก่อน แต่ปัญหายังพบได้ในกลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องที่ไวรัสสามารถก่อให้เกิดอาการติดเชื้อที่รุนแรงได้ ดังนั้นจึงมีความพยายามปรับ vaccinia ให้มีความอ่อนเชื้อลง ที่นิยมทำกันคือเลี้ยงในเซลล์สัตว์ชนิดอื่นๆ เช่น เซลล์ไก่ (CEF) เป็นเวลานานๆ มากกว่า 500 ครั้ง ส่งผลให้ไวรัสปรับตัวเองมีชิ้นส่วน DNA หายไปจากจีโนมไวรัสถึงกว่า 30,000 เบส ทำให้ไวรัสติดเข้าสู่เซลล์คนได้ สร้างโปรตีนต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการกระตุ้นภูมิได้ แต่ประกอบร่างเป็นอนุภาคเพิ่มจำนวนต่อไม่ได้ พัฒนาโดยนักวิจัยในเยอรมัน กลายเป็น vaccinia ที่เชื่อว่าปลอดภัยในคนมากขึ้น เรียกสายพันธุ์นี้ว่า Modified vaccinia Ankara (MVA) virus โดยให้เกียรติ  the Turkish vaccine institute of Ankara ซึ่งเป็นคนแยกหัวเชื้อเพื่อส่งให้ทีมเยอรมันไปพัฒนาต่อ จนกลายเป็นวัคซีนสำหรับ smallpox ที่ใช้กัน และอาจจะเป็นตัวหลักสำหรับ MPXV เช่นเดียวกัน

 

ปัจจุบันวัคซีนของบริษัท Bavarian Nordic เป็นเจ้าของวัคซีนดังกล่าว

 

ข่าวยอดนิยม