ข่าว

"อ.เจษฎ์" ตอบแล้ว "ฝีดาษลิง" น่ากลัวหรือไม่ มีวิธีรักษาและป้องกันอย่างไร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"อ.เจษฎ์" ตอบแล้ว "ฝีดาษลิง" น่ากลัวหรือไม่ หลังพบการระบาดที่สหราชอาณาจักรและโปรตุเกส พร้อมวิธีรักษาและการป้องกัน

"อ.เจษฎ์" รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟสบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ว่า "โรคฝีดาษในลิง (monkeypox) ยังไม่น่ากังวล แต่ควรจับตามอง" ซึ่งมีเสียงเรียกร้อง ว่าขอให้เขียนบทความเกี่ยวกับข่าวเรื่องโรค "ฝีดาษลิง" ที่เป็นข่าวหน่อยว่า มันยังไงกันแน่ เราต้องกลัวแค่ไหน

 

สถานการณ์การระบาด

- เป็นโรคที่หาพบได้ยาก เกิดจากไวรัสที่เป็นญาติกับโรคฝีดาษ (smallpox) ทำให้เป็นไข้ มีฝีหนองคันเกิดขึ้นตามผิว และอาจทำให้เสียชีวิตได้ 

- ปกติ โรค "ฝีดาษลิง" จะพบในทวีปแอฟริกา และมักพบในสัตว์ แต่ไม่นานมานี้ มีรายงานข่าวการตรวจพบในบางประเทศยุโรป

- โปรตุเกส รายงานว่าพบเคสยืนยันแล้ว 5 ราย และต้องสงสัยอีก 15 ราย โดยพบในกรุงลิสบอน ทุกรายเป็นผู้ชาย และส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่ม มีแผลตามผิวหนังแต่อาการยังไม่รุนแรงอะไร

- สหราชอาณาจักร รายงานพบทั้งหมด 7 ราย จากกลุ่มชายที่เป็นเกย์และไบเซ็กชวล ในกรุงลอนดอน

- สเปน พบต้องสงสัย 8 ราย และรอการพิสูจน์ยืนยัน

 

จุดเริ่มต้นการระบาด

- เริ่มมีรายงานในสหราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค. พบผู้ป่วยโรค "ฝีดาษลิง" ที่บินกลับมาจากประเทศไนจีเรีย หลังจากนั้นจึงพบอีก 6 รายตามมา 

- ซึ่งพบว่ามี 4 ราย ที่น่าจะมีความเชื่อมโยงกัน จากการที่เป็นเกย์หรือไบเซ็กชวล และมีความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างชายและชาย

- ก่อนหน้านี้ เคยมีรายงานพบโรค "ฝีดาษลิง" ในสหราชอาณาจักรมาแล้ว 3 ราย โดย 2 รายนั้นอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน และอีกรายเคยเดินทางไปไนจีเรีย

 

อาการของโรค

- โรค "ฝีดาษลิง" เป็นญาติกับโรคฝีดาษในคน แต่แพร่ระบาดได้ยากกว่า มีอาการรุนแรงน้อยกว่า และทำให้เสียชีวิตได้น้อยกว่า

- มักจะมีอาการป่วยนาน 2-4 สัปดาห์ และมีระยะฟักตัว (ตั้งแต่ติดเชื้อจนมีอาการ) ประมาณ 5-21 วัน

- มีอาการป่วยปนกันระหว่างเป็นไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง หนาวสั่น เหนื่อย และต่อมน้ำเหลืองบวม (ซึ่งเป็นจุดแตกต่างสำคัญจากโรคฝีดาษในคน) 

- เมื่อเริ่มเป็นไข้ จะมีตุ่มคันที่ดูน่ากลัวเกิดขึ้นใน 1-3 วัน โดยมักเริ่มที่ใบหน้า และกระจายไปตามร่างกาย บางคนอาจขึ้นไม่เยอะ แต่บางคนอาจมีหลายพันตุ่ม ซึ่งจะนูนใหญ่ขึ้น มีหนองข้างในเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จน "สุก" และแตกเป็นแผล

 

ที่มาของชื่อโรคฝีดาษลิง

- ไวรัสโรค "ฝีดาษลิง" อยู่ในสกุล ออร์โทพ็อกซ์ไวรัส Orthopoxvirus ของวงศ์ พ็อกซ์วิริดี้ Poxviridae (คำว่า pox หมายถึงฝีหนอง)

- ถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1958 ในการระบาดของโรคที่คล้ายฝีดาษ ซึ่งเกิดในห้องแล็บวิจัยที่เลี้ยงลิงไว้

- แม้ไม่ได้มีหลักฐานว่าลิงเป็นสาเหตุของการระบาดครั้งนั้น แต่คนก็เอาไปตั้งชื่อโรคว่า "ฝีดาษลิง" ไปแล้ว

- ปัจจุบัน องค์การอนามัยโลกคาดว่า สัตว์ตามธรรมชาติที่เป็นพาหะของโรคนี้ จริงๆ น่าจะเป็นพวกสัตว์ฟันแทะ เช่น พวกหนูและกระรอกในป่าของอัฟริกา

 

พื้นที่การระบาด

- การระบาดของโรค "ฝีดาษลิง" ในคน นั้นมักพบในพื้นที่ป่าเขตร้อนของแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก โดยมีรายงานครั้งแรกปี ค.ศ. 1970 จาก สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และต่อมาพบในประเทศอื่นๆ อีก 11 ประเทศ

- พบการระบาดนอกทวีปแอฟริกาเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2003 นี้เอง ในประเทศสหรัฐอเมริกา จากการนำเข้าสัตว์ที่ติดเชื้อ 

- จากนั้น ในปี 2018 และ 2019 ประเทศสหราชอาณาจักร ตรวจพบโรคในนักท่องเที่ยว 2 คน ซึ่งเป็นชาวอิสราเอลและชาวสิงคโปร์ ที่เคยเดินทางไปประเทศไนจีเรีย   

 

การติดต่อของโรค

- เราติดเชื้อไวรัสโรคนี้จากสัตว์ที่ติดเชื้อได้ ทั้งจากการที่ถูกสัตว์นั้นกัดหรือข่วน  และจากการกินเนื้อของมัน 

- ส่วนการติดจากคนที่ติดเชื้อ เกิดได้โดยการสัมผัสกันโดยตรง หรือจับเสื้อผ้าที่นอน ที่ปนเปื้อนเชื้อ 

- ไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายขอเวรา ผ่านรอยแผลบนผิวหนัง หรือระบบทางเดินหายใจหรือเนื้อเยื่อที่มีเมือก (เช่น ดวงตา จมูก ปาก) 

- ส่วนใหญ่ การแพร่จากคนสู่คน จะผ่านละอองฝอยขนาดใหญ่จากทางเดินหายใจ (เช่น หยดน้ำลาย) ทำให้เชื้อมักเดินทางไปไม่ไกลนัก จึงต้องเว้นระยะห่าง ในช่วงใบหน้าต่อใบหน้า (face to face)

- แต่จากการระบาดที่พบตอนหลังนี้ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านเชื่อว่า การมีเพศสัมพันธ์ก็มีโอกาสจะแพร่เชื้อได้ เนื่องจากกิจกรรมทางเพศนั้น ทำให้คนทั้งสองมาอยู่ใกล้ชิดกัน

 

ควรกังวลแค่ไหน

- โรค "ฝีดาษลิง" มักจะไม่ได้มีอาการป่วยรุนแรง และคนส่วนใหญ่จะฟื้นตัวได้ในไม่กี่สัปดาห์ .. และการที่มันไม่ได้ระบาดแพร่กระจายโดยง่าย ก็ทำให้ความเสี่ยงต่อสาธารณะ ลดต่ำลงไปมากด้วย

- ผู้ที่ติดเชื้อไวรัส "ฝีดาษลิง" ในประเทศอังกฤษตอนนี้ พบว่าเป็นเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ซึ่งมีความรุนแรงต่ำกว่าสายพันธุ์แอฟริกากลาง โดยมีอัตรการเสียชีวิตอยู่ที่ 1% (ถ้าเป็นสายพันธุ์แอฟริกากลาง จะเป็น 10% และถ้าโรคฝีดาษคน จะมากถึงประมาณ 30%)

- โอกาสเสียชีวิต จะสูงขึ้นถ้าผู้ป่วยเป็นเด็ก และคนหนุ่มสาว และคนที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ที่มีความเสี่ยงจะป่วยรุนแรง

- สตรีมีครรภ์ ที่ติดโรค "ฝีดาษลิง" อาจจะประสบปัญหาในการตั้งครรภ์ และแท้งบุตรขณะคลอดได้  

- ปัญหาหนึ่งของโรคนี้ คือ ผู้ป่วยที่มีอาการน้อยๆ อาจจะไม่รู้ตัวว่าติดโรคอยู่ และทำให้แพร่เชื้อไวรัสไปยังผู้อื่นได้ 

 

รักษาและป้องกันอย่างไร

- ไม่มีวิธีรักษาโดยเฉพาะ และส่วนใหญ่โรคจะหายไปเอง 

- เชื่อกันว่า วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษนั้น มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันโรคฝีดาษลิงไปด้วย  

- แต่เนื่องจากโรคฝีดาษได้ถูกกำจัดหมดไปแล้วตั้งแต่เมื่อ 40 ปีก่อน ทำให้ตอนนี้ไม่มีวัคซีนโรคฝีดาษสำหรับประชาชน เหลืออยู่อีกต่อไป

- แต่มีการพัฒนาวัคซีนใหม่สำเร็จแล้ว โดยบริษัท Bavarian Nordic  สำหรับป้องกันทั้งโรคฝีดาษในคน และโรค "ฝีดาษลิง" โดยได้รับการรับรองแล้วจากสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และแคนาดา  (จะใช้ชื่อการค้าว่า  Imvanex, Jynneos และ Imvamune ตามลำดับ)

- ส่วนยาต้านไวรัส นั้นกำลังอยู่ในระหว่างพัฒนา

 

ภาพและข้อมูลจาก https://www.euronews.com/.../monkeypox-what-we-know-so...

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ