ข่าว

ร่วมกิจกรรมรำลึก "พฤษภา35" เดียร์ ได้ประสบการณ์ต้าน "รัฐประหาร"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ร่วมกิจกรรมรำลึก "พฤษภา35" เดียร์วทันยา ได้ประสบการณ์ ต้าน "รัฐประหาร" ต้องสร้างระบบรัฐสภาให้เป็นที่พึ่ง ที่ศรัทธาของสังคมได้

วทันยา วงษ์โอภาสี โพสต์เฟสบุ๊คมีเนื้อหาว่า ได้ไปร่วมเวทีเสวนารับฟังประสบการณ์กิจกรรมรำลึก 30 ปีพฤษภา 35 ได้ความรู้จากผู้ใหญ่หลายท่าน เช่น คุณโภคิน พลกุล, คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, คุณสมชาย หมอลออ, อ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล, ส.ส.สุทิน คลังแสง และ ดร.ภูมิ มูลศิลป์ และได้ร่วมแสดงความคิดเห็นจากมุมมองของตัวเดียร์เอง ในหัวข้อเกี่ยวกับเรื่องการรำลึกพฤษภาประชาธรรม ว่าเราจะทำอย่างไรให้ขจัดระบบเผด็จการ และกระบวนการรัฐประหาร

 

ร่วมกิจกรรมรำลึก "พฤษภา35" เดียร์ ได้ประสบการณ์ต้าน "รัฐประหาร"

 

หากมองย้อนกลับไปที่รัฐเผด็จการ หรือรัฐประหาร สิ่งหนึ่งที่ทุกคนสรุปเห็นตรงกันคือ มาจากข้ออ้างความชอบธรรมของระบอบการเมืองที่มีเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น ถ้าอยากให้ขจัดระบบรัฐประหารไป คงต้องลุกขึ้นมาแล้วลงมือทำก่อน จะทำอย่างไรให้ประเทศไทยหลุดออกจากอุดมการณ์ต่อต้านการเมืองเพื่อขจัดการหาความชอบธรรมในขบวนการรัฐประหาร

สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ เราต้องแก้ปัญหาที่ต้นทางคือ การทำให้ระบบรัฐสภาเป็นที่พึ่ง ที่ศรัทธาของสังคมได้ ในส่วนของบทบาทในฐานะ ส.ส. นักการเมืองก็ต้องไม่นำความขัดแย้งเข้ามาสู่ระบบการเมือง ที่สุดท้ายแล้วในประสบการณ์ของการเมืองไทย คือมักจะนำไปสู่การประท้วงบนถนน ซึ่งสุดท้ายแล้วมันจะกลับมาเป็นวงจรด้วยกระบวนการรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ถูกใจบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง กติกาชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้าง มันก็ออกมาเป็นแบบนี้

วทันยา ระบุอีกว่า ส่วนหนึ่งของปัญหาที่ทำให้รัฐสภาไม่เป็นที่ศรัทธาของประชาชนก็เพราะระบบการถ่วงดุลระหว่างฝ่ายบริหาร และนิติบัญญัตินั้นหายไป เราพูดถึงระบอบเผด็จการภายใต้ทหาร แต่ในอดีตก็เคยเกิดเหตุการณ์เผด็จการรัฐสภา นั้นก็เพราะระบบพรรคการเมืองที่ครอบงำ ส.ส. ในการตัดสินใจบนเจตนารมณ์ของประชาชนในเวลาที่ความต้องการพรรคและประชาชนสวนทางกัน ดังนั้นการทำให้เอกสิทธิ์ของ ส.ส. ดำรงอยู่จริง ไม่เป็นเพียงแค่เสือกระดาษบนรัฐธรรมนูญ ก็จะเป็นส่วนสำคัญของการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยที่ระบบพรรคการเมืองควรเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการประชาธิปไตยตั้งแต่ภายในพรรคเสียด้วยซ้ำ

จุดประสงค์ของงานรำลึก 30 ปีพฤษภาประชาธรรมที่จัดขึ้น ชื่อหัวข้อบอกได้ชัดอยู่แล้ว เมื่อตอนที่เกิดเหตุการณ์ 22 พฤษภาฯ 2535 ย้อนไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ในวันนั้นจุดเริ่มต้นอันหนึ่งคือ เรื่องเพาเวอร์ (power) ของประชาชนที่ไม่ยอมรับเงื่อนไขในการรัฐประหาร และรัฐบาลที่มาจากระบบเผด็จการในคราวนั้น แล้วนำมาสู่กระบวนการที่เกิดรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และทำให้ประเทศไทยสามารถหลุดจากวงจรรัฐประหารมาได้หนึ่งระยะ แต่ช่วงนั้นเห็นได้ว่าการพัฒนากระบวนการประชาธิปไตยในประเทศไทยกำลังค่อยๆ พัฒนา กำลังโตเต็มใบขึ้น

งานเสวนากิจกรรมรำลึก 30 ปีพฤษภา 35ที่จัดขึ้นนี้คือการที่เราจะทำอย่างไรให้เพาเวอร์ของประชาชน หรือการ Empowering The People มีความเข้มแข็ง การเสวนานี้จัดขึ้นในมิติการเมือง ในเรื่องของด้านกฎหมายตุลาการ แต่อีกสิ่งที่อยากตั้งข้อสังเกตคือ ด้านมิติสังคม ถ้าเราศึกษากระบวนการประชาธิปไตยในของแต่ละประเทศ เช่น กรณีของประเทศเกาหลีใต้ หรือว่าในละตินอเมริกา จะเห็นได้ว่ากระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยของทุกประเทศจะมาพร้อมกับการปฏิรูปในเรื่องของการศึกษาในระบบสังคมไปพร้อมๆ กัน เช่น ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้น ในกรณีของละตินอเมริกา ไม่ใช่รัฐเผด็จการ แต่กระบวนการต้องโปร่งใสและเป็นธรรมมากพอ จึงจะเป็นส่วนช่วยให้ประชาชนตาสว่าง และกระบวนการเหล่านี้จะเป็นขั้นตอนพัฒนาประชาธิปไตย คือประชาชนค่อยๆ เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ แต่เราต้องไม่ลืมอดีตที่ผ่านมา ต้องเรียนรู้บทเรียนแล้วจดจำกับมัน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ