ข่าว

“เนตร นาคสุข”โดนแล้ว ก.อ.ให้ออกราชการ คดี "บอส อยู่วิทยา"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ก.อ.มีมติเอกฉันท์ให้ออก“เนตร นาคสุข”ใช้ดุลพินิจไม่รอบคอบสั่งไม่ฟ้อง “บอส อยู่วิทยา”ขับรถชน ตร.ตาย เปิดเหตุผลสั่งไม่ฟ้องเจ้าตัวเชื่อ 3 พยานผู้เชี่ยวชาญคำนวนความเร็วต่ำกว่า80 ก.ม.

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 65 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนเเจ้งวัฒนะ  นายพชร ยุติธรรมดำรง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.)เป็นประธาน การประชุม ก.อ.  โดยในที่ประชุมได้มีลงมติ ผลสอบคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง นายเนตร  นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด  กรณีสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ทายาทเครื่องดื่มชูกำลัง ผู้ต้องหา คดีขับรถชน
ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่งานปราบปราม สน.ทองหล่อเสียชีวิต  ซึ่งได้มีการส่งผลการสอบสวนให้ นายพชร ประธาน ก.อ.เมื่อช่วงหลังหยุดเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา

ภายหลังการประชุม นายพชร กล่าวว่า ในวันนี้ที่ประชุม ก.อ.มีผู้เข้าร่วมประชุม 14 คน ลา 1 คน ซึ่งมี ก.อ.ที่เคยถูกตั้งเป็นกรรมการสอบสวนวินัย นายเนตรจำนวน 6 คนที่ประชุม จึงให้งดออกเสียงโดยกรรมการที่มีสิทธิลงมติจึงเหลือ 8 คน ซึ่งกรรมการทั้ง8 มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นว่า นายเนตรขาดความระมัดระวังละเอียดรอบคอบในการรับฟังข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่สำคัญในคดีและ ไม่ให้ความสำคัญกับสำนวนทุกประเภท ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญา ของพนักงานอัยการ -(อันเป็นระเบียบที่ใช้บังคับในขณะกระทำความผิดตามที่ ถูกกล่าวหา) เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง อันเป็นการกระทำความผิด ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความระมัดระวัง เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการ ไม่ถือและปฏิบัติตามระเบียบ แบบแผนของทางราชการ ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการ อย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2553 และความผิดฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความระมัดระวัง เป็นเหตุ ให้เสียหายแก่ราชการ และฐานไม่ถือและปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ ตาม แห่งพรบ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 เป็นความผิด วินัยไม่ร้ายแรง

ส่วนความผิดฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ ราชการอย่างร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการกระทำครั้งเดียวผิดวินัย หลายฐาน จึงเห็นควรลงโทษในสถานความผิดวินัยอย่างร้ายแรงที่มีโทษหนักกว่า แต่ทางสอบสวน ไม่ ปรากฏพยานหลักฐานบ่งชี้ว่าผู้ถูกกล่าวหาทุจริตต่อหน้าที่ราชการ จึงยังไม่ถึงขนาดที่จะต้องถูกไล่ ออกจากราชการ เห็นพ้องกันว่าควรลงโทษผู้ถูกกล่าวหา “ปลดออกจากราชการ” แต่เมื่อพิจารณา ถึงประวัติการรับราชการพบว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่เคยถูกลงโทษในการกระทำความผิดทางวินัยมาก่อน และกรณีดังกล่าวนี้เป็นการกระทำความผิดทางวินัยครั้งแรก ผู้ถูกกล่าวหาเองได้รับราชการมาเป็น ระยะเวลานานกว่า 40 ปี ทำคุณประโยชน์แก่ราชการไว้มาก กรณีมีเหตุอันควรลดหย่อนโทษให้แก่ ผู้ถูกกล่าวหาคณะกรรมการ ก.อ.ทั้ง 8 ซึ่งรวมตนด้วยจึงมีมติเเละคำสั่งให้ ลงโทษนายเนตร นาคสุข ผู้ถูกกล่าวหา ในสถาน “ให้ออกจากราชการ” ตาม พรบ. ข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 85,87 

นายพชร กล่าวต่อว่า มติก.อ.วันนี้ถือว่าสิ้นสุดแล้วในส่วนของการดำเนินการทางวินัย หากนายเนตรไม่เห็นด้วย กับมติ ก.อ.ก็ยังสามารถใช้วิธีทางปกครองโดยการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้ ทั้งนี้คำสั่งให้ออกจากราชการมีผลตั้งแต่วันที่มีการอนุมัติให้ลาออกจากราชการแล้วในส่วนการดำเนินคดีอาญากับนายเนตร ในส่วนขอวสำนักงานอัยการ นั้นคงไม่มีแล้ว คงให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานอื่น อย่างไรก็ตามในส่วนของนายชัยณรงค์ แสงทองอร่าม อดีตอัยการอาวุโส ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องในการเปลี่ยนแปลงความเร็วรถยนต์นั้น เราก็ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงโดยมี นายประพัฒน์พงศ์ สุคนธ์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีปกครอง  เป็นประธานสอบ แต่จะเป็นความผิดสถานใดก็ต้องรอดูผลสอบสวน 

นายพชร ยืนยันว่า การให้ออกจากราชการ ไม่ใช่เป็นการช่วยเหลือกัน เพราะในหมู่อัยการรู้นิสัยกันดีว่าจริงๆแล้วนายเนตรไม่ควรจะขาดความรอบคอบ แต่เราไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า การสั่งคดีนั้นมีการทุจริตตรงไหน นายเนตรถือเป็นอัยการที่มือสะอาด แต่การใช้ดุลพินิจในขณะนั้นจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ถือว่าขาดความรอบคอบจากมาตรฐานของคนที่ทำคดีมายาวนาน ต้องสอบพยานคนกลางที่มีความเชี่ยวชาญ มีความรู้เป็นที่ยอมรับของสังคม 

“องค์กรอัยการเราอยู่มาถึง 140 กว่าปี ถ้าเราไม่ได้รับความเชื่อถือต่อสังคม เรารับไม่ได้ เพราะองค์กรจะต้องอยู่ต่อไป เราเป็นทนายแผ่นดิน เป็นข้าแผ่นดิน ถ้าทนายแผ่นดินเชื่อถือไม่ได้ ก็ไม่รู้จะสรรหากระบวนการยุติธรรมไหนที่เชื่อถือได้อีกแล้ว” ประธานก.อ.ระบุ
 

logoline