รร. ชายแดน จ.ตาก นร. และ ลูกหลานแรงงานข้ามชาติ กลับมาเรียน "วันแรก"
โรงแรียนชายแดน จ.ตาก กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นนักเรียนลูกหลานของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ที่ทำงานในพื้นที่พื้นที่ชายแดน ในหมู่บ้าน
วันที่ 17 พ.ค. 65 บรรยากาศการเปิดเรียน ON SITE วันแรก ในพื้นที่ชายแดน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก พบว่าหลายโรงเรียน เปิดเรียนกันอย่างคึกคัก ท่ามกลางการคัดกรองโควิด-19 อย่างเข้มข้น ตามมาตรการด้านสาธารณสุข
โดยมีนายปิลัทธ์ อุดมวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษาตากเขต 2 ลงพื้นที่ติดตาม กำชับการดูแลโรงเรียนต่างๆ โดยเฉพาะที่โรงเรียนบ้านท่าอาจ หมู่ 3 ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งเป็นโรงเรียนตั้งอยู่ในพื้นที่แนวชายแดน ใกล้แม่น้ำเมย แม่น้ำกั้นพรมแดนไทย-เมียนมา ไม่ถึง 1 กิโลเมตร และมีนักเรียนส่วนใหญ่ เป็นบุตรหลานของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งทางโรงเรียนได้ทำการคัดกรองโควิด-19 ด้วยการตรวจ ATK ให้กับนักเรียนทุกคน จำนวน 680 คน
นายปิลัทธ์ อุดมวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตากเขต 2 กล่าวว่า
ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตากเขต 2 ได้มีการเน้นย้ำ ให้โรงเรียนในสังกัด ทั้ง 5 อำเภอชายแดน จังหวัดตาก มีโรงเรียนจำนวน 116 โรงเรียน 59 ห้องเรียนสาขา
ซึ่งมีบุคคลากรทางการศึกษา จำนวนกว่า 2 พันคน นักเรียนอีกจำนวนกว่า 5 หมื่นคน จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้โรงเรียนในพื้นที่ไม่สามารถเปิดการเรียนแบบ On site ได้เลย ในปีการศึกษา 2564 จากมาตรการที่เข้มงวด ในพื้นที่ชายแดน
ทั้งนี้เปิดเรียนวันแรกนี้ จึงมีการประชุมชี้แจง โดยให้ทุกโรงเรียนต้องเข้มงวด ให้ชุมชนและผู้ปกครอง มีความมั่นใจในด้านความปลอดภัย ของเด็กนักเรียนที่จะมาเรียนในวันนี้ หากมีการติดเชื้อในโรงเรียน ต้องมีแผนเผชิญเหตุ สามารถแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที ไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในพื้นที่ ซึ่งพบว่าโรงเรียนมีนักเรียนฉีดวัคซีน ครอบคลุมแล้วกว่า 70 เปอร์เซ็นต์
ส่วนคณะครู ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทางโรงเรียนจะมีการชี้แจงสร้างความเข้าใจแก่ผู้ปกครองในการนำบุตรหลานเข้า รับการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อไป
ขณะที่ นายกิชสณพนธ์ เฉลิมวิสุตม์กุล ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าอาจ กล่าวว่า โรงเรียน
บ้านท่าอาจ มีนักเรียน จำนวน 680 คน ปีนี้มีนักเรียนเพิ่มขึ้น จำนวนกว่า 150 คน ซึ่งกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นนักเรียนลูกหลานของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ที่ทำงานในพื้นที่ชายแดน ในหมู่บ้านท่าอาจและใกล้เคียง โดยมีเด็กคนไทยเข้าเรียน ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น
สำหรับมาตรการการรับเด็กไร้สัญชาตินั้น เด็กจะต้องอยู่ในพื้นที่ประเทศไทย มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ได้รับการรองรับจากผู้นำท้องถิ่นและนายจ้าง หรือคนไทย เพื่อลดการออกกลางคัน นอกจากนี้เมื่อ 2 ปีก่อน ทางโรงเรียนมีการรับนักเรียน ที่เดินทางมาจากประเทศเมียนมา ลักษณะเช้าไปเย็นกลับ แต่จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ไม่สามารถมาเรียนได้ จำนวน 80 คน ทำให้ทางโรงเรียนต้องจำหน่ายนักเรียนออก เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องงบประมาณ แต่หากชายแดนมีการเปิดได้ตามปกติ สามารถข้ามแดนได้ กลุ่มนักเรียนดังกล่าวก็สามารถกลับเข้ามาเรียนต่อได้เช่นกัน
ไพฑูรย์ สุขแว่น ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.ตาก