จากสถานการณ์ปัจจุบันในยุคโซเชียลมีเดีย ที่เข้าถึงคนทุกเพศทุกวัย ถือเป็นช่องว่างให้มิจฉาชีพใช้หลอกลวงประชาชน ซึ่งมีหลายคนตกเป็นเหยื่อของ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” และสูญเสียทรัพย์สินจำนวนมาก
ล่าสุดวันนี้ (12 พ.ค.65) เวลา 14.30 น. พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์รอง ผบ.ตร. ผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) หรือ PCT, เชิญน.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง เลขาธิการปปง., ผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรม, สำนักงานอัยการสูงสุด, กสทช., ก.ล.ต., กระทรวงการคลัง, ธนาคารแห่งประเทศไทย, สมาคมธนาคารไทย, สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ, ธนาคารกรุงไทย และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 4 เครือข่าย หารือแนวทางแก้ไขปัญหา “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” และ อาชญากรรมทางออนไลน์ ที่ขณะนี้กำลังระบาดอย่างหนัก
พล.ต.อ.สุวัฒน์ เปิดเผยว่า คนร้ายเปลี่ยนรูปแบบวิธีการที่ใช้หลอกลวงประชาชนอยู่ตลอดเวลา เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบหรือสะกดรอยจากเจ้าหน้าที่ และมีการจ้างให้บุคคลอื่นเปิดบัญชีเพื่อใช้ในการรับโอนเงินจากผู้เสียหายหรือที่เราเรียกว่า "บัญชีม้า" จากนั้นจะทำการโอนเงินต่อไปอีกหลายบัญชี โดยบัญชีสุดท้ายจะมีการโอนเงินซื้อเหรียญจากแอปแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลต่างประเทศ ทำให้ยากต่อการอายัดเงิน และระบุตัวผู้กระทำผิด
ส่วนการหารือในวันนี้ ได้ข้อสรุปในเบื้องต้นว่า 1. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะทบทวนหลักเกณฑ์เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาบัญชีม้า เช่น การอายัดบัญชีม้า รวมถึงโมบายแบงค์กิ้งค์ที่ผูกกับบัญชีม้า และจะพัฒนาปรับปรุง วิธีการอายัดบัญชีม้าแถว 1 และแถวถัดๆ ไปให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยจะหารือร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และปปง. อีกครั้งหนึ่ง นอกจากนั้นจะร่วมกับ ตร. เสนอแก้ไขกฎหมาย ให้บัญชีม้าอยู่ในมูลฐานความผิดฟอกเงิน เพื่อให้ปปง.มีอำนาจในการอายัดเงินในบัญชี
2. สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จะช่วยในการอายัดบัญชีม้า โดยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่งข้อมูลบัญชีม้าทั้งหมด เพื่อให้ ปปง.ใช้อำนาจในการอายัด นอกจากนี้จะรายงานให้สำนักงานตำรวจทราบถึงการทำธุรกรรมต้องสงสัย เพื่อเป็นแนวทางในการสืบสวน
3. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะทบทวนหลักเกณฑ์เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินคดีกับผู้ค้าขายเหรียญแบบ peer-to-peer และการวางแนวทางในการยึดเหรียญคริปโตเคอเรนซี่จากผู้กระทำความผิด
4. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมร่วมกับ กสทช. จะกำหนดหลักเกณฑ์จำนวนซิมสูงสุดที่สามารถลงทะเบียนเช่น ต่อคนได้ไม่เกิน 5 ซิม ซึ่งอาจต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยจะต้องมีการรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
5. การแจ้งเตือนและเสริมภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน (Cyber Vaccine) ผ่านแอปธนาคาร แอพเป๋าตังค์ และข้อความสั้นจากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เช่น "ระวังถูกหลอก...ห้ามโอนเงินให้ทุกกรณี หากท่านยังไม่สามารถติดต่อกับผู้รับโอนเงินได้ด้วยการขอเบอร์โทรศัพท์แล้วโทรไปคุยด้วย" , “เมื่อได้รับสายจากโทรศัพท์อัตโนมัติ..ให้ตัดสายทิ้งทันที” เป็นต้น โดยหลังจากนี้จะมีการตั้งคณะทำงานย่อยเพื่อมาแก้ปัญหาในเรื่องนี้โดยเฉพาะ
พล.ต.อ.สุวัฒน์ เปิดเผยอีกว่า นับตั้งแต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดศูนย์รับแจ้งความออนไลน์เมื่อวันที่ 1 มี.ค.- 10 พ.ค.65 ที่ผ่านมา มีผู้เสียหายแจ้งความผ่านระบบ 22,426 คดี ความเสียหายเฉลี่ยกว่า 1,500 ล้านบาทต่อเดือน มีการแจ้งความเฉลี่ยวันละ 300 คดี ส่วนใหญ่เป็นการหลอกลวงด้านการเงิน มีคดีที่มีความเชื่อมโยงกันถึง 5,079 คดี ขออายัดเงินไปแล้ว 6,593 บัญชี จากยอดเงิน 2,069,440,817 บาท โดยสามารถอายัดเงินได้ทัน 76,363,871 บาท
จึงขอประชาสัมพันธ์พี่น้องประชาชนว่า อย่าตกเป็นเหยื่อหลงโอนเงิน หรือให้ข้อมูลส่วนตัวกับใครง่ายๆ ต้องตรวจสอบให้ดีก่อน หากมีข้อมูลสงสัยสอบถามได้ที่ สายด่วน บช.สอท. 1441 หรือ ศูนย์ PCT 081-8663000 ตลอด 24 ชม. หรือ ผู้เสียหายสามารถแจ้งความออนไลน์ได้ที่ www.thaipoliceonline.com
ข่าวที่เกี่ยวข้อง