ข่าว

รายจ่ายพุ่งปรี๊ด รับ 'เปิดเทอมใหม่' ผู้ปกครองแทบกระอัก ต้องกู้ยืมเงิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

‘เปิดเทอมใหม่’ กระทรวงศึกษาธิการประกาศ เรียน 'แบบออนไซต์' 100 % ทำผู้ปกครอง ต้องจับจ่ายซื้อชุดนักเรียน และอุปกรณ์ต่างๆ ท่ามกลางค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นมากกว่าก่อนโควิดระบาด

กว่า 2 ปีวิถีเด็กไทยเรียนออนไลน์อยู่ติดบ้าน กลายเป็นเด็กยุคโควิด แต่ภาคเรียนที่ 1/2565 นี้ “เปิดเทอมใหม่” กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ประกาศเรียน 'แบบออนไซต์ 100 % ' ที่โรงเรียน หรือ สถานศึกษา 17 พ.ค. นี้ ทำให้ผู้ปกครองต้องเตรียมพร้อมในการจับจ่ายซื้อหาชุดนักเรียนและอุปกรณ์ต่างๆ

 

เชื่อว่าช่วงวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวัน พ่อแม่ปผู้ปกครอง ต้องจับจ่ายซื้อชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียนที่จำเป็น  ท่ามกลางค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น แม้กระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือผู้ประกอบการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย มีทั้งลดราคาและขอให้ผู้ผลิตตรึงราคาไว้ก่อน เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง ขณะที่ร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ ทุกสาขาก็ลดราคา "ชุดนักเรียน" และอุปกรณ์การเรียนเช่นกัน แต่เมื่อเปรียบเทียบราคาสินค้าก่อนโควิด-19 ระบาด ยังถือว่าสินค้าราคาแพงกว่าเดิมขึ้นมาก

 

พ่อแม่ผู้ปกครองเกือบได้รับข่าวดีรับ “เปิดเทอมใหม่” หลังกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.)ทำการศึกษาวิจัยอัตราเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนทุกสังกัดที่ประกาศใช้เมื่อปีการศึกษา 2553 หรือผ่านไปกว่า 13 ปี ปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายจริงและอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งสกศ.ศึกษาเสร็จเมื่อวันที่ 26 เม.ย.2565

ผลศึกษาอัตราเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนทุกสังกัด กว่าจะผ่านการพิจารณาทุกขั้นตอน โดยเฉพาะเงินงบประมาณที่รัฐจะต้องอุดหนุน คาดว่าไม่ทันเปิดเทอม ในภาคเรียนที่ 1/2565 หรือ 17 พ.ค.นี้ แต่แอบลุ้นเอาใจช่วยผู้ปกครองว่า เปิดเทอม2 ปีการศึกษา2565 ช่วงไตรมาสสุดท้ายปลายปีนี้จะทันใช้หรือไม่

 

ข้อมูลการวิจัยของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุว่าก่อนเปิดเทอมใหม่ ผู้ปกครองต้องจ่ายค่าเล่าเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน ค่าอุปกรณ์ เฉลี่ย 4,055-9,042 บาทต่อคนต่อปี และยังมีค่าใช้จ่ายแฝงเพิ่มเติมทั้งค่าเดินทาง ค่าอาหารเช้า ที่ผู้ปกครองต้องเสียเงินเฉลี่ย 2,058-6,034 บาทต่อคนต่อปี รวมแล้วก่อนเปิดเทอม นักเรียน 1 คน ต้องใช้เงินเฉลี่ย 6,113-15,076 บาทต่อคนต่อปี

 

ปัญหาราคาสินค้าและพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นได้สร้างความกังวลให้กับผู้ปกครอง ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและการใช้จ่ายในการเปิดเทอมใหม่ปี 2565 

จากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ทำให้มีความจำเป็นต้องก่อหนี้เพื่อนำมาใช้จ่าย โดยมูลค่าการใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของผู้ปกครองในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล อาจมีมูลค่าประมาณ 26,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 2.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ยังต่ำกว่าปี 2563


ว่ากันว่า “ชุดนักเรียน”  หรือเครื่องแบบนักเรียน  ได้สร้างภาระหนักให้กับผู้ปกครองในการเลือกซื้อตามกำลังซื้อ ซึ่งมีราคาหลากหลายขึ้นอยู่กับคุณภาพของเนื้อผ้า การตัดเย็บและขนาดเล็กใหญ่ เฉลี่ยนักเรียน 1 คนซื้อชุดนักเรียน 1-3 ชุด หากระดับชั้นอนุบาลจะถูกกว่า ราคาเฉลี่ย 300 บาทต่อชุด ส่วนชั้นประถมศึกษา ราคาเฉลี่ย 500 บาทต่อชุด และระดับมัธยมศึกษา ราคาประมาณ 600-700 บาท

 

ยังไม่รวมค่าอุปกรณ์อื่นๆ เช่น รองเท้า ถุงเท้า กระเป๋า เข็มขัด และชุดพละ นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายชุดลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ราคาเฉลี่ยชุดละ 500-700 บาท หรือมากกว่า และค่าอื่นๆ เช่น ผ้าพันคอ ป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ หมวก สายเข็มขัด และหัวเข็มขัด

 

จากค่าใช้จ่ายบางส่วนก่อน “เปิดเทอมใหม่” ตัวเลขทะลุหลักพันบาท สร้างภาระให้กับผู้ปกครองเป็นอย่างมากในยุคข้าวยากหมากแพง อัตราเงินเฟ้อขัยบเพิ่ม และหากครอบครัวใด มีลูกหลานหลายคนยิ่งต้องใช้เงินจำนวนมากขึ้นอีก 

 

ก่อนเลือกซื้อสิ่งของจำเป็นให้บุตรหลานรับ “เปิดเทอมใหม่” ผู้ปกครองคงต้องสำรวจดูราคาจากหลายแหล่ง ซึ่งจัดโปรโมชั่นลดราคาแข่งขันกัน นำไปเปรียบเทียบกับเงินในกระเป๋าว่ามีเพียงพอหรือไม่ ก่อนไปกู้หนี้ยืมสินจากคนอื่นหรือ กู้เงินนอกระบบ รวมทั้งพึ่งโรงรับจำนำ 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ