ข่าว

'องค์กรครู' ไม่วางใจ100% แม้นายกฯสั่งถอย 'หลักสูตรฐานสมรรถนะ'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ต่อสู้มายาวนาน 'องค์กรครู' ไม่วางใจ100% แม้นายกฯสั่งให้ถอย 'หลักสูตรฐานสมรรถนะ' ชี้ขัดรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เปิดกว้างให้เด็กได้เรียนตามความถนัด แต่ปรับวิธีการสอนของครู

 

วันที่ 6 พ.ค. 2565 นายสานิตย์ พลศรี นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ เปิดเผย “คมชัดลึกออนไลน์” ว่า วันนี้ได้รับข่าวดีเมื่อนายกฯสั่งให้รองนายกฯวิษณุ เครืองาม แถลงข่าวให้กระทรวงศึกษาธิการถอย “หลักสูตรฐานสมรรถนะ” เป็นข่าวดีที่ต่อสู้โดดเดียวมายาวนาน เรื่องนี้ตนเสนอในนามสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิมาโดยตลอดว่าในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้วยการปรับหลักสูตรใหม่ หรือที่เรียกกันว่าหลักสูตรฐานสมรรถนะ นั้นตามกฎหมาย ไม่ได้บัญญัติไวในรัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2560 แต่ในกระทรวงศึกษาธิการยังมีคนดันทุรังจะให้มีการปรับหลักสูตร แม้แต่รัฐมนตรีว่าการศึกษาธิการ ยังคล้อยตามคนพวกนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประธานกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จนต้องออกโรงจะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดและแจ้งความเพื่อเอาผิดฐานละเมิดข้อกฎหมาย

 

สุดท้ายนายกรัฐมนตรีต้องออกมาแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง แต่ในการปรับหลักสูตรใหม่ตนยังไม่วางมือ และไม่เชื่อว่าคนกลุ่มนี้จะถอยจริงหรือไม่ เพราะการที่กระทรวงศึกษาธิการจะปรับหลักสูตรใหม่ ไปขัดแย้งมาตรา 258 (จ.4) ตามกฏหมายรัฐธรรมนูณ 2560 ที่รัฐต้องดูแลเด็กก่อนเข้าเรียน รัฐต้องสนับสนุนการเรียนฟรี เชื่อมโยงถึงให้ปรับการเรียนการสอนของครู และผู้เรียนอยากเรียนอะไรต้องได้เรียนตามความถนัด แต่ไม่ระบุให้ปรับหลักสูตรใหม่ตามแนวคิดของคนบางกลุ่มในกระทรวงศึกษาธิการ

ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานปัจจุบัน กำหนดให้โรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ  สังกัดกระทรวงมหาดไทย (องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร) ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง 2560)ื ซึ่งได้กำหนดมาตรฐานการเรียนรู้ ความรู้ ทักษะ เจตคติ คุณลักษณะ และสมรรถนะไว้อย่างสมบูรณ์ เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และผลงานจากการเรียนรู้ที่มีคุณค่า

 

 

หลักสูตรที่ใช้ในปัจจุบัน คือหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง 2560)โดยจะใช้หลักสูตรนี้ต่อไปจนกว่าจะเห็นสมควรให้มีการปรับปรุง ดังนั้นจะไม่มีการเปลี่ยนหลักสูตร แต่หากมีการปรับปรุงได้ในบางจุดโดยเฉพาะในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 8 จังหวัด คือ ระยอง ศรีสะเกษ เชียงใหม่ กาญจนบุรี สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส 

“ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ทั่วไปยังใช้หลักสูตรปัจจุบัน ยังไม่สมควรเปลี่ยนแปลงเพราะจะกระทบกับการจัดพิมพ์ตำรา ซึ่งจะเป็นภาระของครู ผู้ปกครองและนักเรียนในยามที่เศรษฐกิจดังเช่นปัจจุบัน ถ้าเปลี่ยนหลักสูตรก็ต้องซื้อตำราใหม่ ครูก็ต้องอบรม ซึ่งจะเป็นภาระเพิ่มขึ้น จึงยังไม่ประสงค์ให้เกิดภาระเหล่านี้เกิดขึ้นในขณะนี้” รองนายกฯ วิษณุ ระบุ

ไม่อยากให้เรียกหลักสูตรฐานสมรรถนะ ให้เรียกชื่อเดิม เพราะคำว่าฐานสมรรถนะตนไม่รู้จัก ไม่รู้ความหมาย และที่สำคัญสิ่งที่ได้คุยกันไว้ก็คือต้องมีการปรับวิธีจัดการเรียนการสอน โดยนำวิธีการเรียนแบบ Active Learning เข้ามาให้มาก แล้วให้ครูและนักเรียนช่วยกันคิดออกมาเป็นนวัตกรรม นั่นคือการปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริง 

"เรื่องนี้ผมได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานรวมถึงกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา แล้ว ก็เห็นพ้องกันและได้นำไปเรียนนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกฯก็เห็นชอบว่าไม่ควรมีหลักสูตรใหม่ในตอนนี้”รองนายกฯวิษณุ กล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ