"องค์การยูเนสโก" กำหนด 3 พฤษภาคม "วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก"
3 พฤษภาคม "องค์การยูเนสโก" กำหนดให้เป็น "วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก" ตอกย้ำเจตนารมย์เสรีภาพในการคิดและการแสดงออก เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้เสนอข้อเท็จจริงโดยเสรี
ในปี พ.ศ. 2534 องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้เสนอให้สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ (UN) ประกาศให้วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปี เป็น วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day) เพื่อย้ำเจตนารมณ์และหลักการที่เป็นพื้นฐานของเสรีภาพสื่อมวลชนทั่วโลก คือเสรีภาพในการคิดและการแสดงออก เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้เสนอข้อเท็จจริงโดยเสรี และปลอดภัย เพราะในระยะหลัง ๆ นักข่าวที่ลงพื้นที่ภาคสนามได้มีจำนวนผู้เสียชีวิต ถูกจับเป็นตัวประกัน และถูกจับกุมเพิ่มมากขึ้น ต่อมาจึงได้ถือเอาวันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปีเป็น วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก
วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกถือเป็นวันที่ผู้ที่ทำงานด้านสื่อต้องทบทวนและพูดคุยกัน โดยเฉพาะเรื่องสิทธิในการแสดงออกและจริยธรรมของวิชาชีพ
วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก สนับสนุนสื่อมวลชนซึ่งเป็นเป้าหมายของการลิดรอนสิทธิในการแสดงออก และร่วมกันระลึกถึงผู้สื่อข่าวที่เสียชีวิตในระหว่างการทำงาน และผู้สื่อข่าวที่กล้าเผชิญโทษจำคุก หรือแม้แต่กล้าตายเพื่อจะนำข่าวมาเสนอให้ประชาชน
ในระหว่างปี 2535 – 2545 มีผู้สื่อข่าวเสียชีวิต 523 คน ในจำนวนนี้ ถูกฆ่าโดยเจตนา 374 คน ถูกฆ่าเพราะแสดงความคิดเห็นทางการเมือง 128 คน ถูกฆ่าเพราะแฉเรื่องทุจริตคอรัปชั่น 67 คน และถูกฆ่าขณะปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งทั้งๆที่ได้แสดงตัวแล้วว่าเป็นผู้สื่อข่าวแล้วอีก 179 คน.
องค์การยูเนสโกได้นำเสนอรางวัลเสรีภาพสื่อโลกยูเนสโก/กีลเลร์โม กาโน (UNESCO/Guillermo Cano World Press Freedom Prize) แก่ปัจเจกบุคคล องค์การ หรือสถาบันที่สมควรซึ่งมีส่วนในการปกป้อง และสนับสนุนเสรีภาพสื่อทุกหนแห่งบนโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นการเผชิญอันตราย ซึ่งรางวัลดังกล่าวตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2540 และมอบให้ตามคำแนะนำของคณะลูกขุนอิสระ ซึ่งเป็นวิชาชีพข่าว 14 คน องค์การนอกภาครัฐทั้งระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศซึ่งทำงานด้านเสรีภาพสื่อมวลชน และรัฐสมาชิกยูเนสโกเป็นผู้เสนอชื่อผู้สื่อข่าวเข้าชิงรางวัล ในวันนี้ด้วย