ข่าว

งานทับซ้อนเขตพื้นที่ ‘องค์กรครู’ หนุนยุบ ‘ศึกษาธิการจังหวัด-ภาค’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วอน ‘ตรีนุช’ อย่าเชื่อคณะทำงานศธ.มากนัก ควรปล่อยมือกระจายอำนาจให้ 'โรงเรียน' บริหารผ่านกรรมการสถานศึกษา ทุกภาคส่วนร่วมพัฒนาเด็ก หนุนยุบ ‘ศึกษาธิการจังหวัด-ภาค’ ไม่มีประโยชน์ ทำงานทับซ้อนเขตพื้นที่การศึกษา

มีกระแสข่าวจากบุคลากรในสำนักงาน "ศึกษาธิการจังหวัด-ภาค" เตรียมเคลื่อนไหวคัดค้านยุบในวันที่ 2 พฤษภาคมนี้ หลังจากที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ... มีมติเสียงข้างมากให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) จำนวน 5 ฉบับ ซึ่งในจำนวนดังกล่าวรวมถึง "คำสั่งที่ 19/2560" เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลงวันที่ 3 เม.ย.2560 ด้วย ซึ่งจะส่งผลถึงการยุบสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และสำนักงานศึกษาธิการภาค (ศธภ.) หรือยุบ ‘ศึกษาธิการจังหวัด-ภาค’ ในอนาคต

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.อวยชัย วะทา ประธานเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูแห่งประเทศไทยและกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาตร์สำนักนักงานป.ป.ช.ภาค4(12จังหวัด) ให้สัมภาษณ์ “คมชัดลึกออนไลน์” ในประเด็นนี้ว่า องค์กรครูเคลื่อนไหวในเรื่องนี้มาตลอด มีการประชุมหารือร่วมกันทั่วประเทศเพื่อผลักดันให้ยกเลิกคำสั่งคสช.ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลงวันที่ 3 เม.ย.2560 มาร่วม5 ปี

 

"เครือข่ายองค์กรครูทุกกลุ่มหารือในเรื่องนี้กับนายตวง อันทะไชย สมาชิกวุฒิสภา ประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ... เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนการเสนอให้ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 19/2560 โดยเฉพาะโครงสร้างศ ศธจ.และ ศธภ. หรือ "ศึกษาธิการจังหวัด-ภาค" ไม่ควรบรรจุไว้ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ เพราะ 5 ปีที่ผ่านมาทำงานทับซ้อน หรือทำซ้ำซ้อนกับเขตพื้นที่การศึกษาทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา" ดร.อวยชัยระบุ

แกนนำองค์กรครู กล่าวย้ำอีกว่า จากการติดตามการทำงานของ “ศธจ.-ศธภ” พบว่าที่มาของบุคคลที่มาดำรงตำแหน่งนี้ ไม่ได้ทำเพื่อครูและนักเรียน แต่เป็นการรักษาอำนาจส่วนตัว ละเลยการดูแลเอาใจใส่ครูและนักเรียน ทำให้ครูไร้ที่พึ่งเมื่อเกิดปัญหาเนื่องจากการทำงานของ "ศึกษาธิการจังหวัด-ภาค" ไปซ้ำซ้อนกับเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) ที่มีอยู่แล้ว และมีกฏหมายรองรับ

 

"ผมมองไม่เห็นประโยชน์ของการมี ‘ศึกษาธิการจังหวัด-ภาค’ ควรยุบหรือยกเลิกหน่วยงานนี้และกลับไปพัฒนาโรงเรียนในรูปแบบของคณะกรรมการสถานศึกษา ดึงภาคประชาชน ภาคเอกชน  พ่อแม่ ผู้ปกครอง ท้องถิ่น ชุมชน ศิษย์เก่า ฯลฯ เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดการเรียนรู้ของเด็กผ่านหลักสูตรที่ตอบโจทย์การพัฒนาเด็กแต่พื้นที่ และมีหลักสูตรแกนกลางเอาไว้" ดร.อวยชัย แจกแจงเหตุที่ต้องยุบ‘ศึกษาธิการจังหวัด-ภาค’

 

ดร.อวยชัย กล่าวอีกว่า ฝากถึงนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) วอนอย่าเชื่อข้อมูลจากคณะทำงานกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) มากนัก ควรปล่อยมือกระจายอำนาจให้ “โรงเรียน” บริหารผ่านกรรมการสถานศึกษา ทุกภาคส่วนร่วมพัฒนาเด็ก หนุนยุบ "ศึกษาธิการจังหวัด-ภาค" ไม่มีประโยชน์ ทำงานทับซ้อนเขตพื้นที่การศึกษา คุณภาพการศึกษาไทยถึงล้าหลัง ควรดูฟินแลนด์เป็นต้นแบบจัดการศึกษาต้องทำทุกวิถีทางเพื่อสนับสนุนการทำหน้าที่ของครู ครูผู้สอนต้องมีความรู้ความสามารถและวุฒิการศึกษาเหนือผู้บริหารเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาผ่านตัวผู้เรียนหรือนักเรียน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ