ข่าว

ส่องนโยบายแก้จน “ตลาดเกษตรสีเขียว” อีกช่องทางกระจายสินค้าชุมชน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ส่องนโยบายแก้จน กรมการปกครอง “ตลาดเกษตรสีเขียว” อีกช่องทางกระจายสินค้าชุมชน เป็นการขับเคลื่อนภารกิจตามโครงการเศรษฐกิจชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากในระดับหมู่บ้าน

ตามที่รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยขับเคลื่อนการดำเนินงาน "ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน" ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.)ในระดับพื้นที่ โดยมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด พัฒนาการจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด นายอำเภอ ร่วมกันขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ในทุกภูมิภาคของประเทศเพื่อให้เกิดความรับรู้เข้าใจในการการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และให้การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย. 65 นี้

 

โดยแบ่งเป้าหมายการแก้ไขปัญหาเป็น 3 ระดับ ได้แก่ อยู่รอด พอเพียง และยั่งยืน รวมถึงให้ความสำคัญกับการสร้างการรับรู้ สื่อสาร ประชาสัมพันธ์ ทุกช่องทาง ขับเคลื่อนการแก้ไข "ปัญหาความยากจน" ให้เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย

      ส่องนโยบายแก้จน “ตลาดเกษตรสีเขียว” อีกช่องทางกระจายสินค้าชุมชน

                                      ธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง

 

ล่าสุดกรมการปกครองโดยนายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครองและคณะผู้บริหาร พร้อมสื่อมวลชนลงพื้นที่ในหลายอำเภอของจ.อุบลราชธานีเพื่อติดตามการขับเคลื่อน "ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน" ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) และการขับเคลื่อนภารกิจตามโครงการเศรษฐกิจชุมชนเพื่อแก้ไข "ปัญหาความยากจน"

 

ซึ่งสอดคล้องตามโครงการ E – DOPA Sustainability การสร้างความเข้มแข็งระดับหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ เพื่อความยั่งยืน  ตามแนวทาง แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง เพื่อส่งเสริม "เศรษฐกิจฐานราก" ในระดับหมู่บ้าน พร้อมประชุมประจำเดือนเมษายน 2565 เพื่อมอบนโยบายให้กับนายอำเภอทั้ง 878 อำเภอทั่วประเทศผ่านระบบออนไลน์ DOPA Channel นอกสถานที่เป็นครั้งแรก ณ หอประชุมอำเภอพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี   

 

จากนั้นเป็นประธานในพิธีเปิด “ตลาดสินค้าเกษตรสีเขียว” ณ ลานกิจกรรมหน้าศาลหลักเมืองอำเภอพิบูลมังสาหาร โดยมีนางอุษณี จงจิระ ประธานแม่บ้านกรมการปกครองและผู้บริหารกรมการปกครองเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ เป็นการสร้างความเข้มแข็งระดับหมู่บ้านตำบล และอำเภอ เพื่อความยั่งยืน (E-DOPA Sustainability)เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ของ อ.พิบูลมังสาหาร โดยบูรณาการจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่นและท้องที่ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้เกษตรกรอย่างแท้จริง

 

นอกจากนี้ยังสามารถขยายผลการจัดกิจกรรมตลาดเกษตรกรจากระดับอำเภอไปสู่ระดับตำบล ส่งเสริมและยกระดับการทำอาชีพเกษตรของเกษตรกรในพื้นที่ กระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน ก่อให้เกิดความยั่งยืนในระบบการผลิตทางการเกษตรของพื้นที่ 

การที่เรามีสถานที่สามารถเอาผลิตผลทางการเกษตรมาสร้างรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกรให้กับประชาชนในชุมชนหมู่บ้านนั้นก็เป็นเรื่องที่ดี และประเด็นสำคัญก็คือถ้าสินค้านั้นเป็นที่ยอมรับ มีความปลอดภัย มีความสะอาด พัฒนาและอร่อยก็จะส่งผลให้กิจกรรมหรือตลาดของเราเป็นที่ยอมรับ จะเห็นว่าเริ่มจาก 20 ร้าน วันนี้เพิ่มเป็น 35 ร้าน เราก็อยากเห็นจำนวนเงินจาก 2 ล้านเป็น 20 ล้านบาทบ้างเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในหมู่บ้านในชุมชนเพราะตามหลักเศรษฐศาสตร์เงินจะหมุนเวียนอยู่ 5 รอบก็จะสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนเป็นอย่างดี

 

บางช่วงบางตอนที่อธิบดีกรมการปกครองกล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิด”ตลาดสินค้าเกษตรสีเขียว” ณ ลานกิจกรรมหน้าศาลหลักเมืองอำเภอพิบูลมังสาหาร ซึ่งจะเปิดทำการค้าขายในทุกวันจันทร์และวันศุกร์ตั้งแต่เจ็ดโมงเช้าถึงบ่ายโมงเพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับชาวบ้าน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ในการนำของดีในแต่ละหมู่บ้านแต่ละชุมชนมาจำหน่ายให้กับประชาชนในราคายุติธรรม

     ส่องนโยบายแก้จน “ตลาดเกษตรสีเขียว” อีกช่องทางกระจายสินค้าชุมชน

                                                               สุภัสสร บรรเรืองทอง

 

สุภัสสร บรรเรืองทอง เกษตรกรเจ้าของสวนสุภัสสร ในต.นาโพธิ์ อ.พิบูลมังสาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในชาวบ้านที่นำผลผลิตทางการเกษตรมาจำหน่ายที่ "ตลาดสินค้าเกษตรสีเขียว" แห่งนี้ โดยเธอระบุว่าเริ่มนำสินค้ามาจำหน่ายตั้งแต่ตลาดเริ่มเปิดให้ชาวบ้านนำสินค้ามาจำหน่ายเมื่อ 2 ปีที่แล้ว

 

โดยทางสำนักงานเกษตรอำเภอพิบูลมังสาหารเป็นผู้คัดเลือกเกษตรกรที่สนใจเริ่มจาก 20 ร้านตอนนี้มีเพิ่มขึ้นเป็น 35 ร้านแล้ว โดยตนเองจะนำผลผลิตทางการเกษตรจากสวนมาจำหน่ายในทุกวันจันทร์และวันศุกร์ ส่วนวันอื่น ๆ ก็จะจำหน่ายบริเวณหน้าสวน

 

ขอบคุณทางอำเภอพิบูลมังสาหารที่เปิดตลาดให้ชาวบ้านนำสินค้าเกษตรมาขายจะช่วยเพิ่มช่องทางการตลาดมากขึ้น แม้แค่อาทิตย์ละสองวันคือจันทร์กับวันศุกร์ แต่ก็ช่วยได้มาก ส่วนวันอื่น ๆ ฉันก็วางขายที่หน้าสวนก็จะมีพ่อค้าแม่ค้ามามารับซื้อประจำ เพราะผลผลิตของเรามีความปลอดภัย ในสวนจะไม่ใช้สารเคมีใด ๆ เลย ผลผลิตส่วนใหญ่จะเป็นไม้ผลเช่นกล้วยน้ำว้า ขนุน ส้มโอ ฝรั่ง มีรายได้ตกวันละ 1,000-2,000 บาท ก็พออยู่ได้

 

ตอนนี้กำลังจะปลูกพืชสมุนไพรเพิ่ม  เช่นตะไคร้ ใบมะกรูด ขมิ้น พริก ตลาดตัวนี้ก็จะส่งให้กับร้านทำเครื่องแกง ซึ่งเขาได้มาติดต่อไว้แล้ว หรือใครสนใจผลผลิตจากสวนโทร 08-3912-3794 ได้ตลอดเวลา เจ้าของสวนสุภัสสรเผย

 

จากนั้นอธิบดีกรมการปกครองและคณะ ได้เดินทางไปที่วัดบัวขาว บ้านดูกอึ่ง ต.หนองบัวฮี เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินการส่งเสริมให้หมู่บ้านเข้มแข็งตามแนวทาง แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง ตามหลัก "บวร" ความเข้มแข็งของคณะกรรมการหมู่บ้าน นำมาสู่การรวมกลุ่มของกลุ่มทอผ้าบ้านดูกอึ่ง นอกจากจะเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากในระดับหมู่บ้าน ภายใต้แนวทาง อำเภอมั่งคั่ง แล้ว ยังเป็นการส่งเสริมเอกลักษณ์ของชาติ ด้วยการสวมใส่ผ้าไทย ซึ่งสะท้อนผ่านการทำหน้าที่ของคณะกรรมการหมู่บ้านที่มีการส่งเสริมความร่วมมือและความเข้มแข็งของคนในหมู่บ้านเพื่อความยั่งยืน

 

นอกจากการสร้างอาชีพเสริมด้วยการทอผ้าหลังนาเพื่อให้มีรายได้เพิ่มแล้ว จุดเด่นของต.หนองบัวฮี่คือการจัดการแยกขยะในครัวเรือน โดยองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)หนองบัวฮี ได้รณรงค์ให้ทุกครัวเรือจัดการแยกขยะเหลือใช้ในครัวเรือนเพื่อนำมารีไซด์เคิลใหม่จนเหลือทิ้งให้น้อยที่สุด

      ส่องนโยบายแก้จน “ตลาดเกษตรสีเขียว” อีกช่องทางกระจายสินค้าชุมชน

                                                    นางจันทร์ฉาย ศรีนวล( ซ้าย)

 

นางจันทร์ฉาย ศรีนวล หัวหน้าสำนักปลัดอบต.หนองบัวฮี ในฐานะหัวหน้าโครงการจัดการขยะในครัวเรือนระบุว่า ทาง อบต.หนองบัวฮี จะไม่มีรถขนขยะให้บริการ เนื่องจากได้รณรงค์ให้ชาวบ้านรู้จักคัดแยกขยะ โดยแบ่งเป็นขยะทั่วไทย ขยะอินทรีย์ ขยะรีไซเคิลและขยะอันตราย ซึ่งขยะทั่วไปเช่น ขวดพลาสติก กระป๋อง เศษโลหะ อลูมิเนียม หรือขยะที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ก็จะนำมาทำสื่อการเรียนการสอนให้กับเด็กนักเรียนในพื้นที่ขยะอินทรีย์เช่นเศษอาหาร เศษไม้ใบหญ้าก็จะนำมาทำปุ๋ย

 

ส่วนขยะทั่วไป ย่อยสลายยาก เช่น ซองขนม ถุงพลาสติกและขยะอันตราย เช่น ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ หลอดไฟ ก็ได้ให้ทาง อบจ.อุบลราชธานี มาจัดเก็บไปทำลายเดือนละสองครั้ง

 

นอกจากรณรงค์ให้ชาวบ้านบริหารจัดการขยะกันเองในครัวเรือนเพื่อให้มีขยะน้อยที่สุดแล้ว เรายังส่งเจ้าหน้าที่ไปให้ความรู้แนะนำส่งเสริมเด็กนักเรียนในโรงเรียนให้รู้จักจัดการขยะด้วย เพราะเมื่อเด็กได้เรียนรู้ เข้าใจเห็นผลร้ายจากขยะแล้ว เขาจะไปบอกพ่อแม่ผู้ปกครองให้ทำด้วย ซึ่งเรื่องการจัดการขยะในครัวเรือนนี้เราได้ดำเนินการมา 4-5 ปีแล้ว ปรากฏว่าได้ผลดีมาก ชาวบ้านให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ จะเห็นว่าในพื้นที่ อบต.หนองบัวฮี จะไม่มีถังขยะสาธารณะเลย เพราะชาวบ้านเขาจัดการเองหมด นางจันทร์ฉาย กล่าวในที่สุด

 

นับเป็นการขับเคลื่อนภารกิจตามโครงการเศรษฐกิจชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากในระดับหมู่บ้านตามแนวทาง แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง ที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินมาตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ