ข่าว

"นายจ้าง" รับไม่ไหว "ผู้ใช้แรงงาน" เสนอ "ค่าแรงขั้นต่ำ" 492 บาท /วัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"นายจ้าง" โอด "ลูกจ้าง" ข้อเสนอปรับ "ค่าแรงขั้นต่ำ" เพิ่ม เกือบ50% เป็นไปไม่ได้ เสนอรัฐปรับอัตราค่าจ้างตามความผันผวนของเงินเฟ้อ หวั่นการเมืองแทรกแซง

ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์กรนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มีข้อเสนอขอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 492 บาททั่วประเทศ โดยระบุว่า ข้อเสนอของตัวแทนลูกจ้าง ยังไม่ชัดเจนว่าตัวเลข 492 บาท มีที่มาอย่างไร เนื่องจากที่ผ่านมา อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทยมีอยู่ 8 ระดับตามพื้นที่ ซึ่งหากยึดค่าจ้างขั้นต่ำใน กทม.ที่อัตรา 331 บาทต่อวัน มาคำนวณ จะเท่ากับ มีการปรับค่าจ้างขึ้นไปถึงวันละ 161 บาท หรือขึ้นถึง 48.6% ซึ่งเป็นอัตราที่นายจ้างรับไม่ไหว การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการไตรภาคีที่จะพิจารณาร่วมกัน โดยต้องพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และความสามารถในการจ่ายค่าจ้างของนายจ้าง แม้จะเห็นใจแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น แต่สาเหตุของเงินเฟ้อครั้งนี้มาจากเหตุสงครามรัสเซีย-ยูเครน ไม่ได้มาจากภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น และผู้ประกอบการไม่สามารถสะท้อนต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังราคาสินค้าได้เหมือนภาวะเงินเฟ้อปกติ

"นายจ้าง" รับไม่ไหว "ผู้ใช้แรงงาน" เสนอ "ค่าแรงขั้นต่ำ"  492 บาท /วัน

 

 “สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศขณะนี้ก็ยังไม่ค่อยดี ไม่ใช่เวลาที่จะปรับขึ้นค่าจ้าง ขณะเดียวกันยอมรับว่า มีความกังวลว่า เรื่องค่าจ้างค่าแรงขั้นต่ำ จะถูกนำไปเป็นประเด็นทางการเมือง เพื่อสนองนโยบายประชานิยม จนมีการแทรกแซงไปยังคณะกรรมการไตรภาคี ให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อหวังผลทางการเมือง”

รองประธานสภาองค์กรนายจ้าง เสนอว่า หากรัฐบาลต้องการดูแลแรงงาน สามารถเลือกให้ความช่วยเหลือแรงงานเฉพาะกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อน ในระยะสั้น 3 เดือน หรือ หากจะมีการปรับค่าจ้างค่าแรงขั้นต่ำ ก็ควรนำอัตราเงินเฟ้อมาประกอบการพิจารณา ซึ่งหลายสำนักประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อปีนี้จะเคลื่อนไหวเฉลี่ยที่ 5% ก็ไม่ควรขึ้นค่าจ้างเกิน 5% จากอัตราในปัจจุบัน ซึ่งหากคำนวณโดยอัตราค่าจ้างใน กทม. ก็จะเท่ากับปรับขึ้นมาอีก วันละ 16.50 บาท หรือเดือนละไม่เกิน 500 บาท ก็น่าจะอยู่ในระดับที่ช่วยเหลือกันได้

 

เมื่อวันที่ 25 เมษายน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย พร้อมด้วย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ออกจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้เร่งรัดการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้กับผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ ในอัตราเดียวกัน 492 บาทโดยระบุว่าได้รวบรวมข้อมูลความเป็นจริง จากแรงงานในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ประกอบกับข้อมูลเชิงประจักษ์จากหน่วยงานรัฐ ทั้งจากธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ และจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และในสถานการณ์ของประเทศไทย ถึงภาวะการดำรงชีพของคนงานและประชาชนที่มีความยากลำบากมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ในช่วงของการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาและปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศให้เท่ากัน ทั้งในระยะยาวรัฐบาลต้องสร้างมาตรฐานและหลักประกันที่มั่นคงแก่คนงาน เพื่อสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

 

"นายจ้าง" รับไม่ไหว "ผู้ใช้แรงงาน" เสนอ "ค่าแรงขั้นต่ำ"  492 บาท /วัน

 

 “นายทุนออกมาปกป้องผลประโยชน์ของพวกเขาก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่คนงานยื่นข้อเสนอต่อรัฐ เพียงแค่ยื้อชีวิตให้ไปต่อได้เท่านั้น”

“คุณภาพชีวิตที่ดี มีหลักประกัน รัฐบาลต้องยืนยันปรับค่าจ้าง เพื่อความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ 492 บาทต่อวัน เท่ากันทั้งประเทศ” ข้อเรียกร้องนี้ สูงกว่านโยบายพรรคพลังประชารัฐช่วงหาเสียงเลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐ ที่จะยกระดับค่าแรงค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400-425 บาทต่อวัน ไม่รวมเงินเดือนระดับอาชีวะ 18,000 บาทต่อเดือน และปริญญาตรี 20,000 บาทต่อเดือน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ