ทวงคืน "สภาวิชาชีพครู" เวทีแรก สหพันธ์ครูภาคเหนือ เริ่มแล้ว
สหพันธ์ครูภาคเหนือ จัดเวทีครูคิดวันปิดภาคเรียน เป็นเวทีแรกระดมสมองครูภาคเหนือ ทวงคืน "สภาวิชาชีพครู" ย้ำมาตรา 42 ต้องเขียนให้ชัดเจน เพื่อเสนอกมธ.วิสามัญร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติของรัฐสภา
วันที่ 26 เมษายน 2565 นายธีระศักดิ์ สุวรรณปัญญา ประธานสหพันธ์ครูภาคเหนือ เปิดเผยว่าด้วยสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย ได้ประสานให้องค์กรเครือข่าย4 ภูมิภาคจัดกิจกรรมประจำปีคือการระดมความคิดเห็น จากผู้ประกอบวิชาชีพครูทั่วประเทศ เพื่อนำมารวบรวมเสนอ ผู้เกี่ยวข้องในเวทีครูคิดวันปิดภาคเรียน ของสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทยซึ่งจะจัดในวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 ณ อาคารรัฐสภา
ดังนั้น สหพันธ์ครูภาคเหนือ จึงได้จัดเวทีครูคิดเป็นเวทีแรกขึ้นเมื่อวานนี้วันที่ 25 เมษายน 256 5 ที่ผ่านมาโดยใช้ห้องประชุม โรงเรียนบ้าลำมะโกรก จังหวัดกำแพงเพชร
โดยมี ผู้นำองค์กรวิชาชีพจาก 16 จังหวัดภาคเหนือจังหวัดละ 10 คนเข้าร่วมกิจกรรม ที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้สมาชิก แสดงความคิดเห็น ในร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่กำลังพิจารณาอยู่ในคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติของรัฐสภา
นายธีระศักดิ์ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญ ที่ผู้ประกอบวิชาชีพครู 16จังหวัดในภาคเหนือมีความเห็นตรงกันก็คือการทวงคืนสภาวิชาชีพครู เนื่องจาก ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ในมาตรา 42 เขียน ไว้ว่า ให้มีองค์กรของครูเรียกว่าคุรุสภา มีหน้าที่และอำนาจในการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูการพักใช้การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และ ดูแลส่งเสริมช่วยเหลือด้านสวัสดิการ ประโยชน์ อื่นใด รวมทั้งการพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษา รองผู้บริหารสถานศึกษาและครูฯ
“ซึ่งไม่มีการระบุชัดเจนว่าให้มีสภาวิชาชีพครู แต่ใช้คำว่าให้มีองค์กรของครูดังนั้น ที่ประชุม จึงมีความเห็นว่า ต้องระบุให้ชัดเจนในมาตรา 42 ให้ มีองค์กรวิชาชีพครู เรียกว่า คุรุสภา ซึ่งเป็นสภาวิชาชีพ มีหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานวิชาชีพออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู การพักใช้การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูกำกับดูแลการปฏิบัติตามมาตรฐานและจรรยาบรรณของวิชาชีพส่งเสริมช่วยเหลือด้านสวัสดิการ และประโยชน์อื่นใดรวมทั้งการพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษารองผู้บริหารสถานศึกษาและครูฯ เพื่อเป็นหลักประกันให้เด็กไทยได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ” นายธีระศักดิ์ กล่าว
นายพรเทพ ดวงปันสิงห์ เลขาธิการสหพันธ์ครูภาคเหนือ ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีการเสนอความเห็นแก้ไขประเด็นสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติอีก 22 มาตรา เพื่อให้เป็นไปตามหลักการสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ที่กำหนดให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง ผู้ประกอบวิชาชีพครูต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และต้องมีสภาวิชาชีพ
นอกจากนี้ ต้องมีการกระจายอำนาจให้สถานศึกษาเป็นนิติบุคคล ตามกฎหมายมหาชนอย่างแท้จริง โดยรวบรวมข้อเสนอความคิดเห็นของมติที่ประชุมมอบให้ดร.วีรบูล เสมาทอง ประธานสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทยและกรรมาธิการวิสามัญร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติเพื่อนำไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
ข่าว/ภาพโดย สมฤทธิ์ ชัยพลังฤทธิ์ ผู้สื่อข่าวจังหวัดแพร่